แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2539 และงวดที่ 11 ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 จึงเป็นการผิดนัดสองงวดติดต่อกันตามสัญญา โจทก์จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2539 รวมทั้งค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายประการหนึ่งที่ศาลกำหนดให้ได้ตามพฤติการณ์ความเสียหายซึ่งโจทก์สามารถพิสูจน์ได้ หาจำต้องรอให้ขายรถยนต์เสียก่อนไม่ อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าขาดราคาเพราะหากเป็นกรณีเป็นไปดังที่โจทก์ฎีกาแล้ว กรณีย่อมไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าโจทก์จะนำรถออกประมูลขายเมื่อใด อันมีผลทำให้โจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ซึ่งไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 193/12 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความสิบปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 169,562.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 123,318 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 1 ฒ – 5186 กรุงเทพมหานคร จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ จำกัด (มหาชน) ในราคา 309,552 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 48 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5 กันยายน 2538 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 5 ของเดือน หากผิดนัดสองงวดติดต่อกันให้ถือว่าสัญญาเลิกกัน มีนายกมล บิดาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2540 เป็นต้นไป บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ จำกัด (มหาชน) ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและนำออกประมูลขายได้ราคา 155,000 บาท ขาดราคาตามสัญญาเช่าซื้อ 93,318 บาท ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนทรัพย์ จำกัด (มหาชน) ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินและนำสิทธิเรียกร้องบริษัทออกขายทอดตลาด โจทก์ประมูลซื้อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ และมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว ในส่วนของค่าขาดประโยชน์นั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกา ค่าเสียหายจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าขาดราคานั้นขาดอายุความสิบปีแล้วหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเนื่องจากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันมีผลเพียงก่อให้เกิดสิทธิผู้ให้เช่าซื้อในการติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน ส่วนค่าขาดราคามีอยู่เท่าใดจะทราบได้ต่อเมื่อประมูลขายรถที่เช่าซื้อแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาจึงเริ่มนับแต่วันถัดจากวันประมูลขายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 14 ระบุว่า “ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีการบอกกล่าวทวงถามหรือไม่ก็ตาม หรือในกรณีที่ผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาหรือไม่ประพฤติปฏิบัติตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นหรือที่จะกล่าวในข้อต่อ ๆ ไป ให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกสิ้นสุดลงทันที”เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2539 และผิดนัดในงวดที่ 11 ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2539 ด้วย จึงเป็นการผิดนัดสองงวดติดต่อกัน โจทก์จึงสามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2539 รวมทั้งค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายประการหนึ่ง ที่ศาลกำหนดให้ได้ตามพฤติการณ์ความเสียหายซึ่งโจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์ได้ หาจำต้องรอให้ขายรถยนต์เสียก่อนไม่ อายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าขาดราคา เพราะหากกรณีเป็นไปดังที่โจทก์ฎีกาแล้ว กรณีย่อมไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่าโจทก์จะนำรถออกประมูลขายเมื่อใด อันมีผลทำให้โจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ซึ่งไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติ มาตรา 193/12 ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความสิบปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ