คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15144/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายเนื่องจากมีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 2 ราย แล้วเจ้าหนี้รายที่ 1 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไป ส่วนลูกหนี้ขอวางเงินชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 พร้อมค่าธรรมเนียม แต่ขอโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตาม มาตรา 135 (3) ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) ซึ่งทำให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของตนเองได้ แต่ผลของการยกเลิกการล้มละลายเพราะหนี้สินของลูกหนี้ได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว ตามมาตรา 135 (3) ย่อมทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไปตามนัยแห่งมาตรา 136 เมื่อคดียังมีปัญหาเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้โต้แย้งอยู่ตามมาตรา 104 และมาตรา 135 (3) วรรคสอง อันจะมีผลต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้หรือไม่ เพียงใด ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาและสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ได้ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาด ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.8882/2552 มีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 2 ราย แล้วเจ้าหนี้รายที่ 1 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไป ส่วนลูกหนี้ขอวางเงินชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 พร้อมค่าธรรมเนียม แต่ขอโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3)
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้รายที่ 2 ในมูลหนี้ตามสัญญาจำนวนเงิน 621,292.19 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 แล้ว ลูกหนี้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ว่า เจ้าหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มาทำสัญญาเช่าภายในกำหนด ลูกหนี้จึงมีสิทธิริบเงินมัดจำขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า เจ้าหนี้เป็นฝ่ายผิดสัญญาลูกหนี้จึงมีสิทธิริบมัดจำตามสัญญา เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในเงินมัดจำดังกล่าวได้ จึงเห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ลูกหนี้ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่เพื่อประกอบการค้า ในโครงการบางกอกสแควร์ ตั้งอยู่เลขที่ 762/2 ถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เจ้าหนี้ประสงค์ที่จะเช่าพื้นที่ในโครงการของลูกหนี้เพื่อประกอบธุรกิจอาหารจีน จึงติดต่อกับลูกหนี้เพื่อขอทราบรายละเอียดและต่อรองราคา เจ้าหนี้ชำระเงินจำนวน 182,400 บาท ให้แก่ลูกหนี้เพื่อขอเช่าพื้นที่ของอาคารเอ ในโครงการดังกล่าว ต่อมาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงเปลี่ยนแปลงพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น จากเดิมเนื้อที่ 912 ตารางเมตร เป็น 1,026 ตารางเมตร และได้ทำบันทึกการวางมัดจำการเช่าพื้นที่มีข้อตกลงว่า เจ้าหนี้ได้วางเงินมัดจำการเช่าให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วน เป็นเงินรวม 615,600 บาท โดยตกลงให้นำเงินจำนวน 182,400 บาท ที่วางไว้แล้วในวันที่ 22 ธันวาคม 2551 มารวมกับที่วางในวันนั้นอีกจำนวน 433,200 บาท โดยเจ้าหนี้จะมาทำสัญญาเช่าและชำระเงินค่าเช่าและค่าใช้จ่ายที่เหลืออีกจำนวน 410,400 บาท ในวันที่ 5 เมษายน 2552 หากไม่มายินยอมให้ลูกหนี้ยึดมัดจำทั้งหมดได้ทันที ต่อมาเจ้าหนี้ขอเพิ่มพื้นที่ตามสัญญากับลูกหนี้แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ครั้นถึงวันที่ 5 เมษายน 2552 เจ้าหนี้ไม่ทำสัญญาเช่าและชำระเงินค่าเช่าและค่าใช้จ่ายที่เหลือให้แก่ลูกหนี้ แล้ววันที่ 21 เมษายน 2552 เจ้าหนี้ให้ทนายความมีหนังสือยกเลิกข้อตกลงกับลูกหนี้และขอให้คืนเงินที่ลูกหนี้ได้รับไว้จำนวน 615,600 บาท
มีปัญหาต้องพิจารณาก่อนว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) ศาลยังคงต้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ต่อไปหรือไม่ ได้ความว่า เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลให้มีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายเนื่องจากมีเจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ 2 ราย แล้วเจ้าหนี้รายที่ 1 ขอถอนคำขอรับชำระหนี้ไป ส่วนลูกหนี้ขอวางเงินชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 พร้อมค่าธรรมเนียมแต่ขอโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของลูกหนี้ตาม มาตรา 135 (3) ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่อศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ เห็นว่า แม้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายกลางของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (3) ซึ่งทำให้ลูกหนี้กลับมีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของตนเองได้ แต่ผลของการยกเลิกการล้มละลายเพราะหนี้สินของลูกหนี้ได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว ตามมาตรา 135 (3) ย่อมทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินทั้งหมดที่อาจขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายไปตามนัยแห่งมาตรา 136 เมื่อคดียังมีปัญหาเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ซึ่งลูกหนี้โต้แย้งอยู่ตามมาตรา 104 และมาตรา 135 (3) วรรคสอง อันจะมีผลต่อสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้หรือไม่ เพียงใด ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาและสั่งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ได้ ศาลฎีกาจึงต้องพิจารณาอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ต่อไป
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้หรือไม่ เพียงใด ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เงินที่เจ้าหนี้วางไว้กับลูกหนี้จำนวน 615,600 บาท เป็นเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาบันทึกการวางมัดจำการเช่าพื้นที่ที่เจ้าหนี้ทำกับผู้แทนของลูกหนี้ในวันที่ 22 มกราคม 2552 ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่คู่สัญญาจะมาทำสัญญาเช่าพื้นที่กันในวันที่ 5 เมษายน 2552 โดยฝ่ายลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องจัดเตรียมส่งมอบพื้นที่เช่าให้แก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องมาทำสัญญาเช่าและชำระเงินค่าเช่าและค่าใช้จ่ายที่เหลืออีกจำนวน 410,400 บาท บันทึกดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีผลผูกพันบังคับได้ระหว่างคู่สัญญา ดังนั้น เงินที่เจ้าหนี้มอบให้แก่ลูกหนี้ในวันทำบันทึกข้อตกลงจำนวน 433,200 บาท รวมทั้งเงินจำนวน 182,400 บาท ที่วางไว้ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2551 ซึ่งตกลงให้นำมารวมกับจำนวนเงินที่วางในวันทำบันทึกรวมเป็น 615,600 บาท จึงมิใช่เบี้ยปรับ แต่มีลักษณะเป็นเงินมัดจำที่เจ้าหนี้มอบไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการทำสัญญาและเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้ เพราะในช่วงก่อนถึงวันที่ 5 เมษายน 2552 ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องเตรียมพื้นที่ให้เจ้าหนี้และไม่สามารถไปตกลงให้บุคคลอื่นเช่าพื้นที่อีกได้ ข้อเท็จจริงฟังว่า ในวันดังกล่าวลูกหนี้พร้อมปฏิบัติตามสัญญาในส่วนของตน ส่วนการที่เจ้าหนี้อ้างว่า เจ้าหนี้ได้เจรจาเพื่อขอเพิ่มพื้นที่กับลูกหนี้ก่อนวันที่ 5 เมษายน 2552 และมีหนังสือขอเลื่อนการทำสัญญาเช่าออกไปก่อน เห็นว่า หนังสือขอเลื่อนการเช่าที่อ้างว่าต้องการพื้นที่เพิ่มของเจ้าหนี้ลงวันที่ 3 เมษายน 2552 ทำขึ้นก่อนวันครบกำหนด ที่เจ้าหนี้ต้องมาทำสัญญาเช่ากับลูกหนี้เพียง 2 วัน ทั้ง ๆ ที่หากเจ้าหนี้ประสงค์ที่จะเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 456 ตารางเมตร ซึ่งมากเกือบถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ที่เคยตกลงกับลูกหนี้จริง เจ้าหนี้น่าที่จะต้องแจ้งและเจรจากับลูกหนี้ได้ตั้งแต่เมื่อเริ่มทำบันทึกข้อตกลงได้ไม่นาน มิใช่มาแจ้งเมื่อใกล้เวลาจะต้องปฏิบัติตามสัญญา ประการสำคัญลูกหนี้ก็มิได้สนองตอบที่จะให้เจ้าหนี้เช่าพื้นที่เพิ่มแต่อย่างใด ข้ออ้างของเจ้าหนี้จึงรับฟังไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้ไม่มาทำสัญญาเช่าและชำระเงินค่าเช่าและค่าใช้จ่ายที่เหลือในวันที่ 5 เมษายน 2552 เจ้าหนี้จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและตามข้อตกลง ข้อ 3 ในบันทึกการวางมัดจำการเช่าพื้นที่ มีข้อตกลงทำนองว่า หากเจ้าหนี้ไม่ทำสัญญาเช่าและชำระเงินค่าเช่าและค่าใช้จ่ายที่เหลือตามกำหนดเวลา ยินยอมให้ลูกหนี้ริบมัดจำที่ได้ให้ไว้ทั้งหมด เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้จากเงินมัดจำดังกล่าวได้ ที่ศาลล้มละลายกลางยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share