คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1012/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยมาครั้งหนึ่ง ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหายเพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดถึงอำนาจฟ้องของโจทก์โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ด้วยข้อหาเดียวกันนั้นต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน โดยบรรยายอำนาจฟ้องของโจทก์ให้ชัดเจนขึ้นดังนี้สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ยังหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) ไม่เพราะศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดของจำเลยแต่การที่โจทก์ฟ้องคดีใหม่ในระหว่างที่คดีเดิมอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันแจ้งความเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 83

ศาลชั้นต้นพิจารณาฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง และฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39บัญญัติว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้ ฯลฯ (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฯลฯ” ดังนี้ แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลชั้นต้นด้วยข้อหาเดียวกันมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่คดีเดิมนั้น ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ โดยบรรยายอำนาจฟ้องของโจทก์ให้ชัดเจนขึ้นเช่นนี้ สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ยังหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ไม่ เพราะศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดของจำเลย อย่างไรก็ดี เมื่อศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีเดิมแล้ว โจทก์ก็ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีเดิม และดำเนินคดีเรื่อยมาจนถึงชั้นฎีกา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่คดีเดิมอยู่ในระหว่างการพิจารณา จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

พิพากษายืน

Share