แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ห้าง ศ. เป็นคู่สัญญาเอาประกันภัยรถยนต์ไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถดังกล่าวจากห้าง ศ. เป็นผู้ออกเบี้ยประกันภัยตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงหาใช่ผู้เอาประกันภัยตามความหมายของมาตรา 862 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 887 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.บ.๐๘๗๕๓ไว้จาก ส. จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๒๖๘๘๒ ซึ่งเอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ ๒ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ขับรถของจำเลยที่ ๑ ไปในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วจึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การต่อสู้คดีหลายประการ และต่อสู้ว่าจำเลยที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๒๖๘๘๒ไว้จากห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพูนทรัพย์ ไม่ใช่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้องให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์อุทธรณ์ข้อให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันก่อเหตุคือห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพูนทรัพย์ ไม่ใช่จำเลยที่ ๑ แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าเมื่อฟังว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกเบี้ยประกันภัย ก็ถือได้ว่าเป็นผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๒ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เอาประกันภัย” หมายความว่าคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยนั้น เห็นว่า กรณีเรื่องนี้จำเลยที่ ๑ เป็นเพียงผู้ออกเบี้ยประกันภัยโดยมิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ ๒ หากแต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีพูนทรัพย์เป็นคู่สัญญาเอาประกันภัยรถยนต์ไว้แก่จำเลยที่ ๒ โดยมีจำเลยที่ ๑ ออกเบี้ยประกันภัยตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อข้างต้นเท่านั้น จำเลยที่ ๑ จึงหาใช่ผู้เอาประกันภัยตามความหมายแห่งมาตรา ๘๖๒ ดังกล่าว อันจะทำให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๘๘๗ ไม่
พิพากษายืน