แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง แต่จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง เรียกประชุมข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง แล้วแจ้งต่อที่ประชุมว่าขอหักเงินโบนัสคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินโบนัสที่แต่ละคนจะได้รับ หากผู้ใดไม่จ่ายเงินให้จำเลยก็จะกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างทุกคน รวมทั้งโจทก์ทั้งสองต้องยอมจ่ายเงินโบนัสให้ เป็นการบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของจำเลยในการบริหารราชการในภาพรวมในฐานะที่จำเลยเป็นผู้บริหารสูงสุดในองค์กร แต่ใช้อำนาจหน้าที่ที่จำเลยมีไปในทางที่ผิดกฎหมายในลักษณะใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และ 157 กับให้จำเลยคืนเงินจำนวน 3,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ได้ยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี กับให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,770 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน 1,510 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นข้าราชการพนักงานส่วนตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนจำเลยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้องในปัญหาข้อกฎหมายเรื่องฟ้องเคลือบคลุม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยซึ่งปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง เรียกรับเงินโบนัสจากโจทก์ทั้งสอง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลอื่น ดังนั้น หน้าที่ของจำเลยจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดที่สำคัญ โจทก์ทั้งสองต้องบรรยายมาในคำฟ้องให้เห็นหรือเข้าใจว่าจำเลยมีหน้าที่อย่างไร เพราะหากไม่มีหน้าที่หรือกระทำนอกหน้าที่ การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ทั้งสอง เห็นได้ว่าโจทก์ทั้งสองมิได้กล่าวอ้างการกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ และมีพฤติการณ์กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองแล้วหรือไม่ อย่างไร และหน้าที่ของจำเลยมีแค่ไหน เพียงใด จำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร รวมทั้งเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายของจำเลยหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายฟ้องมาให้ได้ความชัดเจน คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) พิพากษายกฟ้องนั้น โจทก์ทั้งสองอ้างในฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องมาในข้อ 1 ว่า “จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (วันยื่นฟ้องคดี) และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 โดยมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้าง…” ดังนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องมาครบถ้วนแล้วว่า จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดร้อยเอ็ด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับพนักงานจ้างโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องมาในข้อ 2.1 ว่า “จำเลยได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง พูดจา ข่มขู่ บังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวง สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์แก่ข้าราชการ พนักงานลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง จำนวนทั้งหมด 36 ราย รวมโจทก์ทั้งสองคนด้วย เพื่อให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงจำนวนทั้งหมด 36 ราย มอบเงินโบนัสที่จะได้รับคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินโบนัสที่แต่ละคนจะได้รับแก่จำเลย หากข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างคนใดไม่ยอมมอบเงินโบนัสให้แก่จำเลยจะต้องถูกจำเลยกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ได้จะต้องถูกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่น จนทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ประจำองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงทุกคนรวมโจทก์ทั้งสองด้วยต้องยอมจ่ายเงินโบนัสให้แก่จำเลย” เมื่อจำเลยมีหน้าที่ในการบริหารโดยภาพรวมขององค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง การที่จำเลยเรียกประชุมแล้วแจ้งต่อที่ประชุมขอหักเงินโบนัสคนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินโบนัสที่จะได้รับ จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วและการที่จำเลยแจ้งต่อที่ประชุมว่า หากผู้ใดไม่จ่ายเงินให้ จะกลั่นแกล้งจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้งต่อโจทก์ทั้งสองและพนักงานคนอื่นในองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงแล้ว โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องต่อไปว่า “จนทำให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพงทุกคนรวมโจทก์ทั้งสองด้วยต้องยอมจ่ายเงินโบนัสให้จำเลย โดยจำเลยรับไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 คนละ 5 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้เงินโบนัสที่ได้รับรวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 38,530 บาท (สามหมื่นแปดพันห้าร้อยสามสิบบาทถ้วน) ซึ่งจำเลยได้รับเรียบร้อยแล้ว ส่วนเงินโบนัสของโจทก์ที่ 1 จำเลยได้รับไปเป็นเงินจำนวน 1,770 บาท ส่วนเงินโบนัสของโจทก์ที่ 2 จำเลยได้รับเป็นเงินจำนวน 1,510 บาท จำเลยได้รับเงินโบนัสจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนเองโดยไม่มีอำนาจหรือไม่มีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด รายละเอียดเงินโบนัสของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ที่ได้รับและที่ได้จ่ายให้แก่จำเลยรับไป ” จึงเป็นการบรรยายฟ้องมาว่าหน้าที่ของจำเลยเป็นผู้บริหารในองค์กรสูงสุด สามารถจะใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่หักหรือลดเงินเดือนพนักงานในองค์กรได้ทุกคน หากชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่จำเลยมาหักเงินของพนักงานในองค์การบริหารส่วนตำบลทุกคนรวมทั้งของโจทก์ทั้งสองไป เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่จำเลยมีไปในทางที่ผิดกฎหมายในลักษณะใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ คำฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายฟ้องได้ความชัดเจนถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จำเลยเองให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาตลอด คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
เนื่องจากผลของคดีนี้อาจต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 208 (2)
พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่