คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3199/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทจำกัด จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจึงควรจะต้องทราบว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง และการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการประเมินเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบ จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่
การชำระบัญชีจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1271ที่ให้มอบบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารทั้งหลายของบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีแก่นายทะเบียนเพื่อเก็บรักษาไว้ 10 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาเอกสารดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่มีผู้เก็บรักษาจึงฟังไม่ขึ้น
เมื่อบริษัทจำกัดจดทะเบียนเลิกบริษัท จำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมาโดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง การที่จำเลยมิได้กันเงินที่ชำระหนี้ให้โจทก์แต่กลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ยคืนแก่ผู้ถือหุ้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1264,1269 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง แต่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล กรณีต้องด้วยมาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุด ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วันจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีอากรจำนวน 301,262.34 บาท เบี้ยปรับจำนวน 48,600.16 บาท และเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีอากรจำนวน 301,262.34 บาท คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 155,775.62 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 647,181.31 บาท และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษเดือนของต้นเงินภาษีอากรจำนวน 301,262.34 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำละเมิดหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยขณะจดทะเบียนเลิกบริษัทไม่มีหนี้ค่าภาษีใด ๆ ค้างอยู่ โจทก์ไม่เคยทักท้วงหรือโต้แย้งว่าจำเลยชำระค่าภาษีไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง เมื่อมีเงินคงเหลือจึงแบ่งเงินคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมดตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและคดีโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับหนี้ค่าภาษีที่บริษัทบีพี ดี เวลลอปเมนท์ กรุ๊ป จำกัด ไม่ชำระให้แก่โจทก์ แต่จำกัดวงเงินไม่เกิน1,538,905.44 บาท ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 9 เมษายน 2541) ต้องไม่เกิน 647,181.31 บาท ตามที่โจทก์ขอ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไปแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานเกิดขึ้นภายหลังขณะเสร็จการชำระบัญชี บริษัทบีพี ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป จำกัด ไม่มีหนี้สินใด จำเลยจึงคืนเงินค่าหุ้นแก่ผู้ถือหุ้น ที่จำเลยมิได้กันเงินไว้ชำระหนี้เพราะโจทก์มิได้แจ้งจำเลยให้ทราบว่ามีหนี้สินจำเลยไม่ใช่นักธุรกิจจึงไม่ทราบว่าการเลิกเป็นผู้ประกอบภาษีมูลค่าเพิ่มต้องแจ้งต่อโจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันเลิกประกอบการนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัทบีพี ดีเวลลอปเมนท์ กรุ๊ป จำกัด จำเลยจึงมีอำนาจและหน้าที่ในการเป็นผู้ชำระบัญชีตามที่กฎหมายบัญญัติ หน้าที่สำคัญที่ผู้ชำระบัญชีจะต้องดำเนินการก็คือการชำระสะสางการงานของบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัทนั้น ตามมาตรา 1250 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่บริษัทบีพี ดีเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง มีการขายสินค้าไปในราคาต่ำกว่าทุน แสดงยอดรายรับจากการขายขาดไป ทำให้การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และปี 2535 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2535 กับภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคมและมิถุนายน2535 ไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นทั้งกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัทดังกล่าว จึงมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทที่ตนเป็นกรรมการตามมาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1252 จำเลยจึงควรจะต้องรู้ว่าบริษัทเป็นหนี้ค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์ เนื่องจากยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยจะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยก่อน จำเลยจึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวเป็นการประเมินเอง หาจำต้องรอให้พนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น อีกทั้งการชำระบัญชีจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 1271 ที่บัญญัติให้มอบบรรดาสมุดและบัญชี และเอกสารทั้งหลายของบริษัทซึ่งได้ชำระบัญชีนั้นแก่นายทะเบียนเพื่อเก็บรักษาไว้ 10 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี การที่จำเลยมิได้เก็บรักษาบรรดาเอกสารดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่มีผู้เก็บรักษาจึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้งเมื่อบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้วจำเลยมิได้แจ้งการเลิกกิจการภายใน 15 วัน นับจากวันเลิกประกอบกิจการตามประมวลรัษฎากรมาตรา 85/15 แต่ไปแจ้งเลิกกิจการภายหลังจากนั้น 1 ปีเศษ และรีบจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในเวลา 2 เดือนเศษต่อมา โดยบริษัทยังมีเงินสดเหลืออยู่อีก 1,538,905.44 บาท แต่จำเลยมิได้กันเงินที่จะชำระหนี้ให้โจทก์โดยกลับแบ่งเงินดังกล่าวเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น จึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1264 และมาตรา 1269 ที่กำหนดให้ผู้ชำระบัญชีกันเงินส่วนที่บริษัทเป็นหนี้และแบ่งคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นเพียงแต่เท่าที่ไม่ต้องเอาไว้ใช้ในการชำระหนี้ของบริษัทเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีโดยฝ่าฝืนกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาจำเลยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าในคดีเดิมศาลฎีกาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยเป็นผลให้คดีในส่วนของจำเลยถือเสมือนว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง นั้น เห็นว่า เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาศาลฎีกาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2540เห็นว่า คดีในส่วนของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง และพิพากษาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางตั้งแต่ชั้นรับคำฟ้องจนถึงชั้นมีคำพิพากษา จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่รับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล กรณีต้องด้วยมาตรา 193/17 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีใหม่เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาดังกล่าวนั้นถึงที่สุด ปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 เมษายน 2541 ไม่เกิน 60 วัน จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป เป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share