แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องระบุค่าเสียหายไว้ตามรายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยให้การว่าเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานแห่งการเป็นหนี้แต่อย่างใด แสดงว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์เป็นอย่างดี ส่วนค่าเสียหายดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อใด วันเดือนปีใด จำนวนกี่ครั้งครั้งละเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับครบถ้วนแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยไม่มีข้อความตอนใดที่ให้สิทธิแก่จำเลยในอันที่จะบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญา การที่จำเลยเป็นผู้บอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบ สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองมีข้อความชัดแจ้งว่าสัญญานี้ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้ให้สัญญาฝ่ายหนึ่ง และโจทก์ที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะห้างหุ้นส่วนจำกัด โจทก์ที่ 1 อีกฝ่ายหนึ่ง เช่นนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีโจทก์ที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จำเลยทั้งสองกระทำผิดสัญญาต่างตอบแทนทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอันเกิดจากการที่โจทก์ไม่ได้รับประโยชน์จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์คิดตามส่วนกำไรในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของราคาซื้อที่ระบุโดยจำเลยเป็นเวลา 20 ปี นับจากวันที่จำเลยเริ่มต้นการผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย โดยเริ่มต้นการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2530และเริ่มจำหน่ายในประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2530 โจทก์ทั้งสองได้สั่งสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยโรงงานของจำเลยที่ 1ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2530 เป็นต้นมาจนถึงเดือนกันยายน 2531ซึ่งเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยได้สั่งสินค้าจากจำเลยที่ 1รวมเป็นเงิน 4,223,587.31 บาท และได้ขายสินค้าที่สั่งมาจากจำเลยที่ 1 เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 5,101,936.98 บาทมีผลต่างเป็นจำนวนเงิน 878,349.67 บาท คิดเป็นกำไรร้อยละ 20ซึ่งโจทก์ทั้งสองขอถือเอาจำนวนยอดการสั่งสินค้าจากจำเลยที่ 1ในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2530 ถึงเดือนกันยายน 2531ฐานจำนวนน้อยที่สุดในการคำนวณประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับตามสัญญาต่างตอบแทนโดยคำนวณจำนวนเงิน 878,349.67 บาทเป็นระยะเวลา 20 ปี รวมเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับประโยชน์ตามสัญญา 17,566,993 บาท และค่าตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับถ้าหากโรงงานที่บางละมุง จังหวัดชลบุรีสามารถผลิตสินค้าได้ครบทุกขนาดและมีคุณภาพตามที่จำเลยที่ 1ระบุไว้ในใบเสนอราคา ซึ่งโจทก์ทั้งสองสามารถจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้มากกว่ามูลค่าที่กำหนดขั้นต่ำไว้ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองยังสามารถที่จะขยายตลาดเพิ่มได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ในช่วง 3 ปีถัดไป ผลตอบแทนที่ควรจะได้รับนี้โจทก์ขอถือเอาจำนวน 1,000,000 บาทต่อเดือนหรือ 12,000,000 บาทต่อปี เป็นฐาน จำนวนน้อยที่สุดในเกณฑ์การคำนวณการขยายตลาดร้อยละ 20 ต่อปี ในช่วง 3 ปีถัดไปรวมเป็นผลตอบแทนที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับเป็นเงิน 79,238,400 บาทรวมเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องทั้งสิ้น 102,495,944.10 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้เงินจำนวน 102,495,944.10บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า ค่าเสียหายในการบุกเบิกและสำรวจความเป็นไปได้ทางการตลาด ค่าโฆษณาต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่หลักฐานแห่งการเป็นหนี้หรือแสดงชัดเจนซึ่งสภาพหนี้แต่อย่างใดจำเลยไม่สามารถให้การแก้คดีได้อย่างถูกต้อง เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมและค่าเสียหายเกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เป็นเงิน 17,566,993 บาท นั้น จำเลยไม่เคยทำสัญญาตกลงกับโจทก์ที่ 1 เป็นค่าเสียหายที่ไม่มีมูลความจริงเป็นตัวเลขที่โจทก์ทั้งสองคาดคะเนจากการบริหารงานการค้าภายในของโจทก์ทั้งสองเอง และเป็นการเล็งผลในส่วนได้เพียงอย่างเดียวหาได้คำนึงถึงส่วนเสียไม่ ทั้งที่โจทก์ทั้งสองดำเนินกิจการค้าผิดพลาดตลอดมา ไม่มีประสบการณ์และไม่มีความสามารถทางการค้าสินค้าที่จำเลยผลิต โดยประกอบธุรกิจขาดทุนมาตลอดไม่สามารถทำกำไรร้อยละ 20 ได้ ไม่เคยขายสินค้าที่ซื้อจากจำเลยได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงให้คำมั่นสัญญาไว้กับจำเลย ฉนวนกันความร้อนที่มีจำหน่ายในท้องตลาดหาได้มีสินค้าเฉพาะเพียงที่จำเลยผลิตแต่อย่างใดไม่ และผู้ทำการค้าเช่นเดียวกับโจทก์ก็มีมากมายมิใช่มีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวที่จะสามารถจำหน่ายสินค้าฉนวนกันความร้อนผูกขาดได้แต่เพียงผู้เดียวไม่ ดังนั้นส่วนแบ่งของตลาดสำหรับสินค้าฉนวนกันความร้อนดังกล่าวจึงกระจายอยู่กับบุคคลอื่นด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ติดต่อค้าขายสินค้ากับโจทก์ก็เป็นการดำเนินการที่จำเลยที่ 2ได้กระทำไปในฐานะเป็นกรรมการหรือผู้แทนของจำเลยที่ 1หรือเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และเอกสารที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในการติดต่อกับโจทก์นั้น ถ้าหากมีก็เป็นการกระทำไปในฐานะเป็นกรรมการหรือผู้แทนของจำเลยที่ 1 หรือเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2มิได้กระทำการไปในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน15,734,832.79 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อประมาณต้นปี 2526 โจทก์ที่ 2 กับนายแบร์น เลทซ์กรรมการจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นได้ตกลงร่วมทุนกันในการติดต่อสั่งซื้อสินค้าฉนวนกันความร้อนจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยต่อมาในปี 2527 ได้ตกลงกันตั้งโรงงานผลิตฉนวนกันความร้อนขึ้นในประเทศไทยแทนการนำเข้า โดยโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนตั้งบริษัทให้มีโรงงานผลิตขึ้นในประเทศไทยและให้โจทก์ทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2531 จำเลยทั้งสองแจ้งการยกเลิกการเป็นตัวแทนระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสอง
ปัญหาข้อแรกที่ว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายในข้อ 5.1เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่า ฟ้องระบุค่าเสียหายในการบุกเบิกและสำรวจความเป็นไปได้ของการตลาด ค่าเอกสารในการโฆษณาค่าโฆษณาในนิตยสารและสมุดหน้าเหลืองขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์ได้ใช้จ่ายไปในการตลาดรายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 12 ส่วนจำเลยให้การว่าเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวไม่ใช่หลักฐานแห่งการเป็นหนี้แต่อย่างใดนั้น แสดงว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์เป็นอย่างดี แต่ที่ว่าค่าเสียหายดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อใด วันเดือนปีใด จำนวนกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใดนั้นเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ฟ้องโจทก์บรรยายชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับครบถ้วนแล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อที่ 2 ที่ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้ตกลงทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.24 จริงปัญหาต่อไปที่ว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติผิดสัญญาฉบับดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่ พิจารณาข้อความตามเอกสารหมาย จ.24 และ จ.25 แล้วเห็นว่า ไม่มีข้อความตอนใดที่ให้สิทธิแก่จำเลยทั้งสองในอันที่จะบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองได้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำให้การจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้บอกเลิกสัญญาแต่ฝ่ายเดียวจึงไม่ชอบจำเลยทั้งสองจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามฟ้อง
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การดำเนินการใด ๆ ก็ตามจำเลยที่ 2 ทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่เคยลงลายมือชื่อในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดนั้นเห็นว่า เอกสารหมาย จ.24และ จ.25 มีข้อความชัดแจ้งว่า สัญญานี้ทำขึ้นระหว่างนายวูลฟ์กัง เลทซ์ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทไทยคลิมาเฟลกซ์ จำกัด ผู้ให้สัญญา ฝ่ายหนึ่งและนายเทพพงษ์ อัครบวร ในฐานะส่วนตัวและในฐานะห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยอินซูล ผู้รับสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งเช่นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน