คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่คู่สัญญาจะมีสิทธิคิดเบี้ยปรับจากคู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาได้นั้น ต้องมีการตกลงไว้ในสัญญาโดยชัดแจ้งว่า มีเงื่อนไขในการกำหนดเบี้ยปรับกันอย่างไรผิดสัญญาข้อใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 หาใช่เป็นการคิดเอาตามอำเภอใจแต่ฝ่ายเดียวไม่
จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. แม้หนี้เดิมจะเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้ามิใช่หนี้กู้ยืมก็ตาม แต่ก็เป็นหนี้เงินที่ต้องชำระต่อกันจึงต้องอยู่ภายใต้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7และมาตรา 224 ซึ่งคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีและห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอีกด้วย การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในต้นเงิน 2 ล้านบาทมาเป็นจำนวน 6 ล้านบาทเศษ ในเวลาประมาณ 2 ปี นับว่าเป็นจำนวนดอกเบี้ยสูงมากคิดแล้วเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละร้อยต่อปีทั้งการเปลี่ยนเช็คแต่ละฉบับโดยนำดอกเบี้ยมารวมเป็นต้นเงินตามเช็คฉบับใหม่มีลักษณะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยอันต้องห้ามตามกฎหมาย ประกอบกับตลอดเวลาที่ค้าขายติดต่อกัน จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เพื่อชำระหนี้มีจำนวนประมาณ 30 ฉบับ และทุกฉบับขึ้นเงินไม่ได้ทั้งโจทก์ผู้รับโอนเช็คพิพาทจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ยังรับว่าเช็คที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. นำไปเปลี่ยนจากจำเลยทุกครั้งเป็นเช็คที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. นำไปแลกเงินสดจากโจทก์ และเมื่อถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จะส่งเช็คฉบับนั้นนำไปขอเปลี่ยนเช็คฉบับใหม่จากจำเลยทุกคราวไป แสดงให้เห็นว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. และโจทก์ต่างรู้ถึงฐานะทางการเงินของจำเลยทั้งสองเป็นอย่างดีว่ามีความขัดสนรุนแรงเพียงใดดังนั้น การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาท4 ฉบับ แต่ละฉบับมีจำนวนเงินสูงลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันเดียวกันโดยให้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ย่อมทราบดีว่าขณะที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คนั้น จำเลยไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ตามเช็คได้ จำเลยทั้งสองอยู่ในภาวะที่ถูก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. บีบบังคับให้ต้องสั่งจ่ายเช็คที่มีดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วย การสั่งจ่ายเช็คของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แม้ว่าโจทก์จะไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ร่วมกันออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสตูล ลงวันที่ 30กันยายน 2540 จำนวน 4 ฉบับ สั่งจ่ายเงินให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดช.ฟ้าไทย เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 โจทก์ได้รับเช็คทั้ง4 ฉบับดังกล่าวจาก ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทย เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คทั้ง 4 ฉบับถึงกำหนด โจทก์นำเช็คเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) สาขาสตูล เพื่อให้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันออกเช็คด้วยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คเหตุเกิดที่ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คพิพาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทย โดยมีการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 การออกเช็คพิพาท จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค แม้โจทก์จะรับโอนเช็คพิพาทโดยไม่ทราบว่าเช็คดังกล่าวมีดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายรวมอยู่ด้วย จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าเดิมจำเลยทั้งสองซื้อวัสดุก่อสร้างจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยแต่ติดค้างหนี้อยู่ต่อกันเป็นเงินประมาณ 2,000,000 บาท จำเลยทั้งสองได้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้นั้นแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยต่อมาเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองได้สั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่แทนฉบับเดิมที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยโดยนำจำนวนเงินตามเช็คบวกกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนเข้าไว้ในเช็คฉบับใหม่ด้วย กระบวนการออกเช็คของจำเลยทั้งสองที่กระทำต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทย เป็นเช่นนี้หลายครั้งนับได้ 5 ถึง 6 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2540ได้มีการคิดบัญชีกันระหว่างจำเลยทั้งสองกับห้างหุ้นส่วนจำกัดช.ฟ้าไทย โดยมีการคิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ติดค้างมาแต่ต้นตามเช็คฉบับก่อน ๆ ที่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาโดยตลอดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ6,000,000 บาท พร้อมกันนี้จำเลยทั้งสองได้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยจำนวน4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 อันเป็นเช็คพิพาทในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 12 กรกฎาคม 2540 ห้างหุ้นส่วนจำกัดช.ฟ้าไทยได้นำเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ ไปมอบแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 และเช็คพิพาททั้งหมดก็ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดช.ฟ้าไทย แต่เช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินไม่ได้นั้นเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งสองต้องเสียค่าปรับให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทย เพราะเหตุชำระค่าวัสดุก่อสร้างไม่ต้องตามกำหนด จึงไม่ใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 แต่เป็นกรณีที่ลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 เพราะฉะนั้นการที่จะกำหนดเบี้ยปรับเพียงใดก็สามารถทำได้โดยชอบไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และไม่มีกฎหมายห้ามคิดค่าปรับซ้อนค่าปรับ และหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 การคิดค่าปรับของห้างหุ้นส่วนจำกัดช.ฟ้าไทย กับจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่าในการที่คู่สัญญาจะมีสิทธิคิดเบี้ยปรับจากคู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาได้นั้นจะต้องมีการตกลงกันในสัญญาโดยชัดแจ้งว่ามีข้อเงื่อนไขในการกำหนดเบี้ยปรับกันอย่างไร ผิดสัญญาข้อใดทั้งนี้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379บัญญัติไว้ว่า “ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี..” จากข้อกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า เบี้ยปรับนี้ต้องกำหนดไว้โดยสัญญาอันหมายถึงต้องมีการตกลงกันระหว่างคู่สัญญา หาใช่เป็นการคิดเอาตามอำเภอใจฝ่ายเดียวดังที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทย กระทำต่อจำเลยทั้งสองตามที่ปรากฏ และแม้หนี้เดิมจะเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้ามิใช่หนี้กู้ยืมก็ตาม แต่ก็เป็นหนี้เงินที่จะต้องชำระต่อกัน ดังนั้น จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 7 และมาตรา 224 ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอีกด้วย ดังนั้น ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดช.ฟ้าไทย คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองมานั้นจึงเป็นการไม่ชอบตามข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น เพราะการคิดดอกเบี้ยดังที่ปรากฏนั้นจากต้นเงินประมาณ 2,000,000 บาทมาเป็นจำนวนเงิน 6,000,000 บาทเศษ ในเวลาประมาณ 2 ปีนับว่าเป็นจำนวนดอกเบี้ยสูงมากคิดแล้วเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละร้อยต่อปี ทั้งการเปลี่ยนเช็คแต่ละฉบับโดยนำดอกเบี้ยมารวมเป็นต้นเงินตามเช็ค ฉบับใหม่มีลักษณะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยต้องห้ามตามกฎหมาย ดังนั้นข้ออ้างของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้จากพฤติการณ์แห่งคดีที่ปรากฏทั้งนายสิทธิโชคนายสิทธิชัยแห่งห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยโจทก์และจำเลยทั้งสองประกอบอาชีพค้าขายอยู่ในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาด้วยกัน มีวัยใกล้เคียงกัน จนแทบจะเรียกว่าวัยเดียวกัน นายสิทธิโชคยืนยันว่ารู้จักจำเลยที่ 2 มานาน10 ปีแล้ว ทุกคน น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดีพอสมควร ตลอดเวลาที่ค้าขายติดต่อกันเกี่ยวกับคดีนี้มีการออกเช็คของจำเลยทั้งสองแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทย เพื่อชำระหนี้ซึ่งมีเช็คประมาณ30 ฉบับ และทุกฉบับก็ขึ้นเงินไม่ได้ตามที่นายสิทธิโชคได้เบิกความอธิบายแนวทางปฏิบัติระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยกับโจทก์ สรุปได้ว่า เช็คเดิมที่นายสิทธิโชคและนายสิทธิชัยนำไปเปลี่ยนจากจำเลยทุกครั้งเป็นเช็คที่นายสิทธิโชคกับนายสิทธิชัยนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ และเมื่อถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จะส่งเช็คฉบับนั้นคืนแก่นายสิทธิโชคหรือนายสิทธิชัยและจะนำไปขอเปลี่ยนเช็คฉบับใหม่จากจำเลยทุกคราวไป จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ส่อแสดงให้เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยและโจทก์ต่างก็รู้ถึงฐานะทางการเงินของจำเลยทั้งสองเป็นอย่างดีว่า มีความขัดสนรุนแรงเพียงใด ดังนั้น การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับแต่ละฉบับมีจำนวนเงินสูงลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันเดียวกัน โดยให้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยน่าจะทราบดีว่าไม่มีทางที่จำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ตามเช็คได้ รูปคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับตามฟ้องแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดช.ฟ้าไทย โดยที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทย ทราบดีแล้วว่าขณะที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายเช็คนั้น จำเลยไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้ตามเช็คได้ จำเลยทั้งสองอยู่ในภาวะที่ถูกห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ฟ้าไทยบีบบังคับให้จำเลยทั้งสองต้องสั่งจ่ายเช็คที่มีดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยรวมอยู่ด้วยดังวินิจฉัยมาแล้ว การสั่งจ่ายเช็คของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ทั้งนี้แม้โจทก์จะไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share