คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าละเมิดสิทธิการใช้ไฟฟ้าไปชำระแก่จำเลย หากไม่ชำระภายในกำหนดจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ เป็นการกระทำไปตามสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยเชื่อว่ามีสิทธิกระทำได้ ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาตามปกติ หาใช่เป็นการข่มขู่อันจะทำให้หนังสือรับสภาพหนี้เป็นโมฆียะไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้ จำเลยที่ 3 เป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 ตั้งอยู่จังหวัดภูเก็ต มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2535 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับจำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในกิจการดังกล่าวและได้ชำระหนี้ค่าใช้กระแสไฟฟ้าตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน2537 จำเลยทั้งสี่ได้มีหนังสือที่ มท.5329.2/ภก.12526 ขอให้โจทก์ชำระค่าละเมิดการใช้กระแสไฟฟ้าเพราะมีการตรวจสอบพบว่าคอนโทรลเคเบิลที่โจทก์ติดตั้งใช้งานอยู่มีรอยผ่ากลางสายด้านติดกับเสาไฟฟ้า สายสีแดงถูกตัดขาดออกจากกัน มีผลให้การอ่านคำของมิเตอร์คลาดเคลื่อนน้อยกว่าความเป็นจริง กับมิเตอร์ไฟฟ้ามีร่องรอยถูกงัดแงะและตราตะกั่วฝาครอบตัวมิเตอร์ทั้งสองข้างทำให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1เสียหายให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,259,355 บาท ภายใน 7 วัน โจทก์ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ทำละเมิดและร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แต่จำเลยทั้งสี่ยืนยันให้โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายในกำหนดมิฉะนั้นจะพิจารณางดจ่ายกระแสไฟฟ้า อันเป็นการข่มขู่โจทก์ โจทก์เกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อด้านธุรกิจโรงแรม ตลอดจนทรัพย์สินและชื่อเสียง อันเป็นภัยที่ใกล้จะถึงและร้ายแรง เมื่อวันที่ 19กันยายน 2538 โจทก์จึงยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นหนี้ค่าละเมิดจำนวน 1,250,000 บาท โดยโจทก์มิได้เจตนาที่จะผูกพันตามหนังสือรับสภาพหนี้อันเกิดจากการข่มขู่ดังกล่าว ต่อมาจึงได้มีหนังสือขอบอกล้างหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2538 และจำเลยทั้งสี่ได้รับโดยชอบแล้ว จึงถือว่าหนังสือรับสภาพหนี้ตกเป็นโมฆียะและเมื่อโจทก์บอกล้างแล้วถือได้ว่าตกเป็นโมฆะตั้งแต่วันที่ทำสัญญา แต่จำเลยทั้งสี่ยังเรียกร้องให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้อยู่อีกอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าการบอกล้างโมฆียะกรรมของโจทก์ตามหนังสือรับสารภาพหนี้ ฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2538 ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้หนังสือรับสภาพหนี้ตกเป็นโมฆะ และไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อโจทก์อีกต่อไป

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ได้ลักลอบใช้ของมีคมผ่าสายเคเบิลซึ่งเป็นสายไฟที่เข้ามาตรวัดกระแสไฟฟ้าปลิ้นเอาสายไฟฟ้าเล็ก ๆ หุ้มฉนวนจำนวน7 เส้น ที่อยู่ภายในออกมาเลือกตัดเฉพาะเส้นสีแดงแล้วยัดสายไฟฟ้าเหล่านั้นกลับเข้าที่เดิมเอากาวทารอยผ่าให้สนิทเพื่อปกปิดและอำพรางร่องรอย ทำให้การอ่านค่าหน่วยไฟฟ้าที่มาตรวัดกระแสไฟฟ้าลดลงกึ่งหนึ่งของหน่วยที่ใช้จริง การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตผิดสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงมีอำนาจบอกเลิกสัญญาด้วยวิธีงดจ่ายกระแสไฟฟ้าและไม่ทำการค้าขายกับโจทก์อีกต่อไปได้ โจทก์สำนึกผิดยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารท้ายฟ้องเพื่อโจทก์จะได้มีโอกาสใช้กระแสไฟฟ้าตามปกติต่อไป หนังสือรับสภาพหนี้มีมูลหนี้อันชอบด้วยกฎหมาย ถูกต้องตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกล้างขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประกอบกิจการโรงแรม ได้ทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2535 ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 4พฤศจิกายน 2537 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรตำบลฉลองว่า โจทก์ลักกระแสไฟฟ้า เนื่องจากพนักงานช่างของจำเลยที่ 3 ตรวจสอบมาตรวัดไฟฟ้าเกี่ยวกับการใช้กระแสไฟฟ้าที่โรงแรมของโจทก์ตามวาระประจำเดือน เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม2537 พบว่าเข็มวัดค่ากิโลวัตต์ที่มาตรวัดไฟฟ้าค้างเต็มพิกัดไม่ตีกลับตามปกติ สงสัยว่าจะชำรุดต้องเปลี่ยนมาตรวัดไฟฟ้า ต่อมาวันที่ 27 ตุลาคม 2537 พนักงานของจำเลยที่ 3 จึงไปทำการเปลี่ยนมาตรวัดไฟฟ้าให้โรงแรมของโจทก์ ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.4 แต่วัดแรงดันไฟฟ้าแล้วไม่มีแรงดันไฟฟ้าเข้า จึงตรวจสอบสายคอนโทรลเคเบิลสีฟ้าจากเครื่องวัดแรงดันด้านแรงสูงมายังตัวมาตรวัดไฟฟ้า พบรอยผ่าที่สายดังกล่าว คล้ายรูปตัวทีแล้วใช้กาวติดไว้ ภายในสายคอนโทรลเคเบิลมีสายทองแดงอยู่7 เส้น หุ้มด้วยฉนวนต่างสีกัน เมื่อแกะรอยผ่าดูพบสายสีแดงถูกตัดขาดจากกัน แรงดันไฟฟ้าไม่สามารถผ่านได้ ทำให้เข็มวัดค่ากิโลวัตต์ขึ้นสูงสุดไม่สามารถอ่านค่าการใช้กระแสไฟฟ้าที่แท้จริงได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 เห็นว่า เป็นการกระทำที่ผิดสัญญาจึงเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามสัญญา คือตามขนาดของหม้อแปลง เควีอีละ 1,000 บาทรวม 1,250 เควีอี เป็นค่าเสียหาย 1,250,000 บาท โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย หากไม่ชดใช้จำเลยที่ 1 จะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ โจทก์ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำการดังกล่าวและได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและมีหนังสือขอความเป็นธรรมต่อจำเลยที่ 4 ด้วย แต่ฝ่ายจำเลยยังคงมีหนังสือแจ้งยืนยันให้โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวภายในกำหนดมิฉะนั้นจะดำเนินการตามระเบียบ ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2538 โจทก์จึงทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระเงิน1,250,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.6 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทำหนังสือรับสภาพหนี้เพราะถูกฝ่ายจำเลยข่มขู่หรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำละเมิด แต่เมื่อมีกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าของโจทก์เกิดขึ้นซึ่งตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 12 มีข้อความว่า “หากผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการซื้อขายไฟฟ้าข้อหนึ่งข้อใดผู้ซื้อยินยอมให้ผู้ขายงดจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อได้ทันที โดยผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใด ๆทั้งสิ้น” และข้อ 5 วรรคแรกมีข้อความว่า “ผู้ซื้อและผู้ขายตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าด้วยความสุจริตและจะไม่กระทำการใด ๆ หรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการละเมิดการใช้ไฟฟ้า” วรรคสองว่า “การละเมิดการใช้ไฟฟ้า หมายถึง การทำลายหรือดัดแปลงแก้ไขมาตรวัดไฟฟ้าและหรืออุปกรณ์ประกอบใด ๆ ตลอดจนเครื่องหมายหรือตราต่าง ๆทำให้มาตรวัดไฟฟ้าอ่านค่าคลาดเคลื่อน หรือเป็นผลให้ผู้ขายต้องสูญเสียประโยชน์อันพึงมีพึงได้หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือทำนองเดียวกัน หรือต่อไฟตรงโดยไม่ผ่านมาตรวัดไฟฟ้า” นอกจากนี้ในกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 6.2.1 ยังระบุว่า “กรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าทางด้านกิโลวัตต์ และหรือกิโลวัตต์ชั่วโมง ผู้ซื้อต้องชดใช้ค่าละเมิดการใช้ไฟฟ้าตามขนาดหม้อแปลงที่ติดตั้งเควีเอ. ละ 1,000 บาท หรือตามขนาดมาตรวัดไฟฟ้า และหรืออุปกรณ์ประกอบ (ซีที)ที่ติดตั้งแอมป์ละ… บาท หรือชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนค่าไฟฟ้าที่ผู้ซื้อได้ใช้ไปจริงในช่วงที่มีการละเมิดการใช้ไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณของผู้ขาย ทั้งนี้แล้วแต่ผู้ขายจะเลือกปฏิบัติตามแต่จะเห็นสมควร” ดังนั้น การที่ฝ่ายจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินค่าละเมิดสิทธิการใช้ไฟฟ้าไปชำระแก่ฝ่ายจำเลยตามฟ้อง หากไม่ชำระภายในกำหนดจะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์จึงเป็นการกระทำไปตามสิทธิในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 ดังกล่าวโดยเชื่อว่ามีสิทธิกระทำได้ถือเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาตามปกติหาใช่เป็นการข่มขู่ อันจะทำให้หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องเป็นโมฆียะดังโจทก์อ้างไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share