คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1125/2512

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าพนักงานแจ้งรายการประเมินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 24 ไปยังผู้ใด.บุคคลผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้รับประเมินโดยเป็นบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีตามที่ประเมินมานั้น. ถ้าไม่พอใจการประเมินจะโดยอ้างว่า.เพราะเจ้าพนักงานประเมินผิดให้เสียภาษี.ในกรณีไม่ต้องเสียหรือประเมินให้เสียมากกว่าที่ควรต้องเสีย. บุคคลนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลว่าว่าการประเมินไม่ถูก. จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 39ซึ่งบัญญัติให้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นก่อนศาลประทับฟ้อง. หากมิได้ชำระค่าภาษีเสียก่อน.ศาลย่อมจะรับฟ้องไว้พิจารณามิได้. (วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12-13/2512).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนเป็นสมาคม โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ 2600 ตำบลทุ่งมหาเมฆ และบ้านเลขที่ 13ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินใช้เป็นที่ประชุมที่เล่นกีฬาและพักผ่อนของสมาชิก มีกรรมการและตัวแทนดำเนินการและอยู่เฝ้ารักษา จำเลยได้แจ้งประเมินภาษีโรงเรือนสำหรับบ้านเป็นเงิน 7,500 บาท ซึ่งไม่ถูกต้องโจทก์อุทธรณ์คัดค้านต่อคณะเทศมนตรี คณะเทศมนตรีสั่งยกอุทธรณ์จึงฟ้องขอให้แสดงว่า เจ้าหน้าที่ประเมินเก็บภาษีโรงเรือนจากโจทก์ไม่ถูกต้อง จำเลยไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ และยกเลิกการประเมินภาษี จำเลยต่อสู้ว่า การประเมินถูกต้องแล้ว และตัดฟ้องว่าจนกระทั่งบัดนี้โจทก์ยังไม่ชำระค่าภาษี ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องตามกฎหมาย ทางพิจารณาคู่ความรับข้อเท็จจริงกันบางประการ แล้วไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและให้ยกเลิกการประเมินภาษีโรงเรือนของโจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งการประเมินแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2509 จนบัดนี้โจทก์ยังไม่ชำระค่าภาษีให้จำเลย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 39 ศาลยังไม่มีอำนาจรับฟ้องได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39บัญญัติว่า “ถ้ามีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลตามความในมาตรา 31 ท่านห้ามมิให้ศาลประทับเป็นฟ้องตามกฎหมาย เว้นแต่จะเป็นที่พอใจ ศาลว่าผู้รับประเมินได้ชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระ เพราะเวลาซึ่งท่านให้ไว้ตามมาตรา 38 นั้น ได้สิ้นไปแล้ว หรือถึงกำหนดชำระวางที่คดียังอยู่ในศาล” โจทก์ฎีกา สมาคมใช้โรงเรือนเป็นที่ตั้งสำนักงานของตนเองย่อมได้ชื่อว่าใช้อยู่เองได้รับการงดเว้นเสียภาษี ไม่ต้องยื่นรายการประเมิน จึงไม่ใช่ผู้รับประเมิน ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 39แต่เป็นเรื่องโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องชำระค่าภาษีก่อนฟ้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือน (ภ.ร.ค.2) โดยขอลดค่าภาษี อ้างว่า เพราะใช้เป็นสำนักงานเพื่อกิจการของสมาคมเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินภาษีเห็นว่าโจทก์ไม่ได้รับการยกเว้นเสียภาษีตามกฎหมาย จึงส่งใบแจ้งรายการประเมินจำนวนค่ารายปีและภาษี (ภ.ร.ด.8) ไปยังโจทก์ ดังนี้ถือได้หรือไม่ว่าโจทก์เป็น “ผู้รับประเมิน” ซึ่งตามมาตรา 5 หมายความว่า “บุคคลผู้พึงชำระค่าภาษี” ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า หากจะถือเอาตามที่โจทก์อ้างในฎีกา ก็จะมีปัญหาขัดข้องตอนศาลสั่งฟ้อง คือในกรณีที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ไม่จำต้องเสียภาษีจะเพราะเหตุใด ๆ ก็ตาม แต่เจ้าพนักงานประเมินมาให้โจทก์เสียภาษี ในขณะโจทก์ยื่นฟ้อง ศาลยังไม่อาจทราบว่าจำเลยจะต่อสู้คดีอย่างไร ข้อเท็จจริงที่จะได้ความในการพิจารณาคดีต่อไปจะเป็นอย่างไร ยังไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์จะเป็นผู้ไม่ต้องเสียภาษีเลยหรือต้องเสียเต็มจำนวนหรือต้องเสียเพียงบางส่วน ดังนี้ศาลก็ไม่อาจรู้ได้ว่าจะต้องใช้มาตรา 39 ในการสั่งประทับฟ้องหรือไม่ ถ้าในกรณีเช่นนี้ ศาลรับฟ้องไว้ โดยโจทก์ไม่ต้องชำระภาษีก่อน ก็จะไม่มีผู้ใดยอมชำระภาษีที่ถูกประเมินก่อนฟ้องเพราะเมื่อศาลพิจารณาคดีไปในที่สุด จะชี้ขาดว่าโจทก์ต้องเสียหรือไม่ก็ตามแต่ โจทก์ก็ต้องเสียหรือไม่ต้องเสียไปตามคำชี้ขาดนั้น โจทก์จะได้ชำระค่าภาษีก่อนฟ้องหรือไม่ ไม่มีผลอะไรเลย บทบัญญัติมาตรา39 ก็จะไร้ผล ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงเห็นว่าเมื่อเจ้าพนักงานแจ้งรายการประเมินภาษีตามมาตรา 24(ภ.ร.ด.8) ไปยังผู้ใดบุคคลผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้รับประเมิน” โดยเป็น “บุคคลผู้พึงชำระภาษี” ตามที่ประเมินมานั้น ถ้าไม่พอใจการประเมิน จะอ้างว่าเพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินผิดให้เสียภาษีในกรณีไม่ต้องเสีย หรือประเมินให้เสียมากกว่าที่ควรต้องเสีย บุคคลนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลว่าการประเมินไม่ถูก จึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 39 ทั้งสิ้น คือต้องชำระค่าภาษีไปก่อน โจทก์ฎีกาอีกข้อว่า เมื่อศาลชั้นต้นประทับฟ้องไว้แล้วต้องถือว่า เป็นที่พอใจศาลแล้วว่า โจทก์ได้ชำระค่าภาษีแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า จะถือเอาการที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้องเป็นข้อสันนิษฐานดังนั้นไม่ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ยังไม่ชำระค่าภาษีโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียง จึงถือได้ว่าโจทก์ยังไม่ชำระ ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณาไม่ได้ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่อื่น พิพากษายืน.

Share