คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12269/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่า ฉ. จะไปทำบัตรประจำตัวประชาชนในชื่อของ ก. การที่จำเลยที่ 2 ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ช่วยเป็นผู้รับรองเป็นเหตุให้ ฉ. สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนได้สำเร็จ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือ ฉ. ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุน ฉ. ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ ไม่ได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 267, 268 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 6 จัตวา, 14 (2)
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลสูงภาค 3 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) จำคุก 9 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ให้การเป็นผลร้ายต่อตนเองสอดรับกับคำให้การของนายเฉลิมตามบันทึกคำให้การของนายเฉลิมในชั้นสอบสวน ในข้อสาระสำคัญ สมเหตุสมผล ไม่มีพิรุธ ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าถูกขู่เข็ญบังคับ เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การไปตามความจริงที่เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาสภาพลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวแล้วน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่านายเฉลิมจะไปทำบัตรประจำตัวประชาชนในชื่อของนายกลิ้ง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับนายเฉลิมในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์มีเพียงสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตสวมบัตรประจำตัวประชาชนรายนายกลิ้ง บันทึกการสอบปากคำนายเฉลิมและจำเลยที่ 2 ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตสวมบัตรประจำตัวประชาชนนายกลิ้ง และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายเฉลิมและของจำเลยที่ 2 ที่ระบุทำนองว่านายเฉลิมและจำเลยที่ 2 ไปที่ที่ว่าการอำเภอกระสังพร้อมกันเพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายเฉลิม ส่วนพยานโจทก์ที่สำคัญทั้งสองปากคือนายสุรศักดิ์ เจ้าหน้าที่ปกครอง 5 และนายเจริญ ปลัดอำเภอ หัวหน้าฝ่ายทะเบียน เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องในการรับคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอมีบัตรประจำตัวประชาชน ที่นายเฉลิมยื่นและแจ้งข้อความเพื่อขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของนายกลิ้งใหม่ ได้เบิกความเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงส่วนใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องในการยื่นคำขอและแจ้งข้อความของนายเฉลิมแต่อย่างไร นอกจากเอกสารดังกล่าวแล้วไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพยานหลักฐานอื่นใดแสดงว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับนายเฉลิมทำแบบคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอมีบัตรประจำตัวประชาชน หรือแบ่งหน้าที่กันทำอย่างไร ทั้งจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความสอดคล้องกับคำเบิกความของนายเฉลิมว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำคำขอหรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน นายเฉลิมเป็นผู้ปลอมคำขอดังกล่าวเพียงผู้เดียว ข้อเท็จจริงจึงยังมีข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับนายเฉลิมปลอมคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนตามฟ้องหรือไม่ กรณีจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามมาตรา 227 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับนายเฉลิมในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่ก่อนแล้วว่านายเฉลิมจะไปทำบัตรประจำตัวประชาชนในชื่อของนายกลิ้ง การที่จำเลยที่ 2 ขอร้องให้จำเลยที่ 1 ช่วยเป็นผู้รับรองเป็นเหตุให้นายเฉลิมสามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนได้สำเร็จ ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือนายเฉลิมขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานสนับสนุนนายเฉลิมในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ มิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษหรือกระทำความผิดอื่นใดมาก่อน ทั้งเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวเพื่อช่วยให้นายเฉลิมได้ไปทำงานหาเงินจากต่างประเทศมาเลี้ยงดูครอบครัว สภาพแห่งความผิดไม่ร้ายแรงนัก เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดี เห็นควรกำหนดโทษสถานเบาและให้รอการลงโทษ แต่เพื่อให้จำเลยที่ 2 หลาบจำ สมควรลงโทษปรับจำเลยที่ 2 อีกสถานหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ลงโทษจำคุก 4 เดือน และปรับ 3,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 เดือน 20 วัน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share