คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15771/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (1), 120 และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้เสียหายแท้จริงหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 4, 5, 23, 25, 37 ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งที่รุกล้ำและกีดขวางทางน้ำชลประทานออกไปจากเขตทางน้ำชลประทาน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23, 37 (ที่ถูก มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, 37 วรรคหนึ่ง) จำคุก 1 เดือน และปรับ 100 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งที่รุกล้ำทางน้ำชลประทานออกไปจากเขตทางน้ำชลประทาน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องในความผิดที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมาหรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พ.ศ.2485 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (1), 120 และพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้เสียหายแท้จริงหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share