คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3855/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บัญญัติยกเว้นภาษีป้ายสำหรับป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน การที่จะพิจารณาว่าป้ายใดจะถือเป็นป้ายโรงเรียนเอกชนหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ซึ่งมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีป้ายแสดงชื่อโรงเรียนเป็นอักษรไทย ขนาดใหญ่พอเห็นได้ในระยะอันสมควรติดไว้ที่โรงเรียนหรือบริเวณโรงเรียน ณ ที่ซึ่งเห็นได้ง่าย” ดังนั้นป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจึงหมายความถึงป้ายแสดงชื่อโรงเรียนที่เป็นอักษรไทยตามบทบังคับของมาตรา 46 เท่านั้น ป้ายพิพาทมิใช่ป้ายแสดงชื่อโรงเรียนที่เป็นอักษรไทยตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงมิใช่ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8(9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตั้งโรงเรียนเอกชนชื่อโรงเรียนศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์ธุรกิจร้อยเอ็ดและเป็นเจ้าของผู้ครอบครองป้ายขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตรเนื้อที่ 6,400 ตารางเซนติเมตร จำนวน 8 ป้าย มีรูปภาพคอมพิวเตอร์และคนนั่งและมีอักษรภาษาอังกฤษ คำว่า “BCC” อยู่ในป้าย กับป้ายขนาดกว้าง 500 เซนติเมตร ยาว200 เซนติเมตร เนื้อที่ 100,000 ตารางเซนติเมตร จำนวน 1 ป้าย โดยมีรูปภาพคอมพิวเตอร์และคนนั่ง และอักษรภาษาอังกฤษคำว่า “BUSINESS COMPUTERCENTER” อยู่ในป้าย จำเลยได้ติดตั้งป้ายทั้งหมดไว้นอกอาคารบ้านเลขที่ 9/1-2 ถนนเพลินจิต ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลของโจทก์จึงต้องเสียภาษีป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 โดยจัดเป็นป้ายประเภทที่ 2 ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535 ข้อ 2 ที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ในอัตรา 20 บาท ต่อห้าร้อยตารางเซนติเมตร จำเลยติดตั้งป้ายทั้งหมดเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2540 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีป้ายและเงินเพิ่มตามมาตรา 25(1) เนื่องจากจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายสำหรับปี 2540 ค่าภาษีจำนวน 4,560 บาท เงินเพิ่มจำนวน 456 บาท รวมจำนวน 5,016 บาท ปี 2541 ถึง 2543 ค่าภาษีปีละ 6,080 บาท เงินเพิ่มปีละ 608 บาท รวมทั้งสี่ปีเป็นเงิน 25,080 บาท จำเลยทราบการประเมินและมิได้อุทธรณ์โต้แย้ง กับมิได้ชำระเงินค่าภาษีดังกล่าวแก่โจทก์จึงต้องรับผิดในเงินเพิ่มอีกอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนคิดเป็นหนึ่งเดือนนับแต่วันที่พ้นกำหนดในใบแนบแจ้งประเมินของค่าภาษีป้ายนั้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มรวมทั้งสิ้นจำนวน 34,960.30 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 34,960.30 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยรับผิดในเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนคิดเป็นหนึ่งเดือนในหนี้ค่าภาษีจำนวน22,800 บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ป้ายพิพาทเป็นป้ายของโรงเรียนและติดตั้งหรือแสดงไว้ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนมีชื่อภาษาไทยของโรงเรียนด้วย ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของโรงเรียนศูนย์อบรมคอมพิวเตอร์ธุรกิจร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชนพ.ศ. 2525 ป้ายพิพาทเป็นของโรงเรียนดังกล่าวติดอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของโรงเรียนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีป้ายกับเงินเพิ่ม เนื่องจากจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายสำหรับปี 2540 จำนวน 5,016 บาท สำหรับปี 2541 ถึง 2543 ปีละ6,688 บาท รวมทั้งสี่ปีเป็นเงิน 25,080 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยต้องเสียภาษีป้ายสำหรับป้ายพิพาทหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บัญญัติยกเว้นภาษีป้ายสำหรับป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่าป้ายใด จะถือเป็นป้ายโรงเรียนเอกชนหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามที่กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน คือพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 กำหนดไว้ ซึ่งมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีป้ายแสดงชื่อโรงเรียนเป็นอักษรไทยขนาดใหญ่พอเห็นได้ในระยะอันสมควรติดไว้ที่โรงเรียนหรือบริเวณโรงเรียน ณ ที่ซึ่งเห็นได้ง่าย”ดังนั้น ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจึงหมายความถึงป้ายแสดงชื่อโรงเรียนที่เป็นอักษรไทยตามบทบังคับของมาตรา 46 เท่านั้น ป้ายพิพาทมิใช่ป้ายแสดงชื่อโรงเรียนที่เป็นอักษรไทยตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงมิใช่ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น คดียังมีประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ศาลภาษีอากรกลางยังมิได้วินิจฉัยและคดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงสมควรให้มีการวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาล”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share