แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่ได้รับอันตรายแก่กายฐานละเมิดแม้บิดาโจทก์จะเบิกจากทางราชการและทางราชการได้จ่ายแทนโจทก์ไปแล้วก็ตามก็เป็นสิทธิเฉพาะตัวของบิดาโจทก์โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้และกรณีเป็นคนละเรื่องกับการที่โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินในกรณีถูกทำละเมิดจนได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ขาหักหลายแห่งต้องรักษาโดยการผ่าตัดหลายครั้งและอยู่ที่โรงพยาบาลนานถึง129วันออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องรักษาตัวที่บ้านหลายเดือนโจทก์ได้รับอันตรายถึงสาหัสต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานานต้องขาดเรียนและเรียนซ้ำชั้นได้รับความทุกข์ทรมานทางกายและจิตใจย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินในส่วนนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา446
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เยาว์ มีนาวาอากาศเอกประสารทิพย์เกษร บิดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม โจทก์นั่งรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 จากบริเวณห้าแยกปากเกร็ดมุ่งหน้าไปจังหวัดปทุมธานีมีจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างฝ่าสัญญาณไฟแดง เป็นเหตุให้เบียดชนกับรถยนต์ซึ่งแล่นออกมาจากหมู่บ้านเมืองทองธานี รถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักตกลงข้างทางทับโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสโจทก์ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชนาน 129 วันเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 124,696 บาท ค่าจ้างผู้ช่วยเหลือพิเศษ ค่าอาหารและค่าของใช้เบ็ดเตล็ด 60,000 บาท หลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกกายภาพบำบัดอีก50,000 บาท และขณะเกิดเหตุโจทก์กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6ทำให้โจทก์ต้องเสียเวลาเรียนซ้ำชั้นอีก 1 ปี และขาดความก้าวหน้าทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 80,000 บาท การที่โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ทำให้โจทก์ทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจจึงขอเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ 250,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งหมด 564,696 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 564,696 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินความเป็นจริงส่วนค่าสินไหมทดแทนต่อจิตใจและความก้าวหน้าในชีวิตกับค่าใช้จ่ายในการเรียนซ้ำชั้นไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำละเมิด ทั้งเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินเหตุซึ่งไม่สามารถคาดหมายได้ โจทก์เสียค่ารักษาพยาบาลจริง ๆ ไม่เกิน 100,000 บาท และบิดาของโจทก์สามารถเบิกจากทางราชการได้อยู่แล้วโจทก์ไม่ต้องชำระเอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน414,696 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2ได้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน 10-2782กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 ไปในทางที่จ้างของจำเลยที่ 2ด้วยความประมาทเลินเล่อฝ่าสัญญาณไฟแดงตรงทางแยกเข้าหมู่บ้านเมืองทองธานีเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ที่แล่นออกมาจากหมู่บ้านเมืองทองธานีเสียหลักตกลงข้างทาง โจทก์ซึ่งโดยสารมาในรถยนต์โดยสารประจำทางถูกรถยนต์โดยสารประจำทางทับกระดูกขาหักหลายแห่ง ต้องรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช นาน 129 วันแพทย์ต้องผ่าตัดถึง 2 ครั้ง คดีมีปัญหาตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพียงใด ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บิดาโจทก์มีสวัสดิการของทางราชการช่วยเหลือหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งชำระค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ ค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ที่โจทก์จะเรียกร้องได้ต้องเป็นค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้เสียไปตามความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ว่าประการใดก็ตามเนื่องจากโจทก์สามารถคิดค่าเสียหายในส่วนค่าสินไหมทดแทนอันมิใช่ตัวเงินในกรณีถูกทำละเมิดจนได้รับอันตรายแก่กายหรือถึงแก่ชีวิตได้อยู่แล้ว จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้อีกไม่ได้นั้นเห็นว่า ค่ารักษาพยาบาลเป็นค่าเสียหายฐานละเมิด แม้บิดาโจทก์จะเบิกจากทางราชการและทางราชการได้จ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้แทนโจทก์ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นสิทธิเฉพาะตัวของบิดาโจทก์ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยที่ 2 ผู้ต้องรับผิดฐานละเมิดได้ และกรณีเป็นคนละเรื่องกับการที่โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินในกรณีถูกทำละเมิดจนได้รับอันตรายแก่กายหรือถึงแก่ชีวิตฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่ารักษาทางกายภาพบำบัดและค่าจ้างคนดูแลนั้นเห็นว่าโจทก์มีนาวาอากาศเอกปรีดา จินดา แพทย์ผู้รักษาโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ขาของโจทก์ถูกรถยนต์บดขยี้จนกระทั่งเนื้อบางส่วนตายต้องตัดออก หลังจากผ่าตัดเอาเนื้อที่ตายออกไปแล้วจะต้องผ่าตัดเอาผิวหนังส่วนอื่นมาปะไว้ ต่อจากนั้นจะต้องทำกายภาพบำบัดเพราะบาดแผลถูกดึงรั้งไว้ทำให้เหยียดขาหรือนั่งไม่ได้เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ต้องทำกายภาพบำบัดอีกเพื่อจะได้เหยียดขาหรือนั่งได้ตามปกติ พยานปากนี้เป็นผู้ตรวจรักษาโจทก์ทำการตรวจรักษาโจทก์ด้วยหลักวิชาการ คำเบิกความของพยานนี้มีเหตุผลน่าเชื่อถือ จำเลยที่ 2 เองก็มิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น กรณีฟังได้ว่าเมื่อโจทก์ออกจากโรงพยาบาลแล้ว โจทก์ยังต้องได้รับการรักษาโดยทางกายภาพบำบัดโดยมีผู้มาทำกายภาพบำบัดให้ที่บ้านของโจทก์อีกเป็นเวลา 3 เดือน ในการนี้เชื่อได้ว่าโจทก์ต้องเสียค่าจ้างคนมาทำกายภาพบำบัดได้ แม้โจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดงโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงิน 40,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้วส่วนค่าจ้างบุคคลอื่นมาดูแลโจทก์ในระหว่างการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดงและไม่มีรายละเอียดว่าได้จ่ายค่าจ้างไปเท่าใดก็ตาม แต่การที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บขาหักหลายแห่ง ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดหลายครั้งต้องตัดเอาเนื้อที่ตายบางส่วนออกแล้วผ่าตัดเอาผิวหนังส่วนอื่นมาปะและต้องทำการกายภาพบำบัดทั้งขณะอยู่ที่โรงพยาบาลและออกจากโรงพยาบาลแล้ว ใช้เวลาในการรักษาในโรงพยาบาลนานถึง 129 วัน โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสมาก จำเป็นต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดเพราะโจทก์ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เชื่อได้ว่าโจทก์ได้จ้างบุคคลอื่นมาช่วยเหลือดูแล ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน50,000 บาท เป็นการเหมาะสมแล้ว ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินเพราะเป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุนั้น เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนักเรียนกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ขาหักหลายแห่งต้องรักษาโดยการผ่าตัดหลายครั้งและรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานถึง129 วัน ออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ต้องมารักษาตัวที่บ้านอีกหลายเดือนโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายถึงสาหัส ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะบาดแผลที่ได้รับเป็นเวลานานต้องขาดเรียนและเรียนซ้ำชั้น เห็นได้ว่า โจทก์ได้รับความทุกข์ทรมานทางกายและจิตใจมาก โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินในส่วนนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ไม่ใช่เป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินเหตุตามข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดกับความทุกข์ทรมานทางกายและใจที่โจทก์ได้รับแล้วการที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 200,000บาทนั้น เป็นการเหมาะสมแล้ว”
พิพากษายืน