คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 77,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ใช้เงินจำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ใช้เงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงแยกกันตามความรับผิดที่ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์แต่ละคนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนไม่เกินรายละ 200,000 บาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ทั้งสามในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 หรือไม่นั้น ข้ออ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ทั้งสามย่อมต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายการเถียงข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาเพื่อสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางกฤษณา วรรณโฆษิต โจทก์ที่ 2 เป็นผู้เยาว์และเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับนางกฤษณา โจทก์ที่ 3 เป็นมารดาของนางกฤษณาจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองควบคุมรถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-1135 กรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่7 เมษายน 2528 จำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 1ฉ-1293 โดยประมาทเลินเล่อชนนางกฤษณาอย่างแรง ในขณะที่นางกฤษณาเดินข้ามถนนบริเวณทางข้าม(ทางม้าลาย) ทำให้นางกฤษณาล้มลงกลางถนนในขณะเดียวกับที่จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 คันดังกล่าว ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 มุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 3 ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับชนทับร่างของนางกฤษณา ทำให้นางกฤษณาถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1ต้องจัดการงานศพของผู้ตายเป็นเงิน 40,434 บาท และขาดค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายเป็นเงิน 200,000 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3ต้องขาดค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายเป็นเงินคนละ 180,000 บาทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 240,434 บาท ให้โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 180,000 บาท ให้โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 180,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับจากวันฟ้องจนกว่าชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 10-1135กรุงเทพมหานคร ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 และผู้ตายจำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ชนผู้ตายถึงแก่ความตายทันที แล้วศพผู้ตายได้กระเด็นไปปะทะรถยนต์โดยสาร เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารทับศพผู้ตายโดยเหตุสุดวิสัยค่าจัดการงานศพผู้ตายไม่เกิน 20,000 บาท ค่าอุปการะเลี้ยงดูจากผู้ตายของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เกิน 10,000 บาท 20,000 บาทและ 10,000 บาท ตามลำดับ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน77,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ใช้เงินจำนวน 150,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2ใช้เงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 1 เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 77,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ใช้เงินจำนวน 150,000 บาท แก่โจกท์*ที่ 2 ใช้เงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงแยกกันตามความรับผิดที่ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ที่ 1 ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน77,000 บาท โจทก์ที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน150,000 บาทและโจทก์ที่ 3 ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน50,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนไม่เกินรายละ200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อ 2 ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อ 2 ในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ว่านายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 หรือไม่นั้น เห็นว่าข้ออ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ทั้งสามย่อมต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย การเถียงข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาเพื่อสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามจึงมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้เช่นกัน
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสาม

Share