คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 ที่ใช้บังคับขณะฟ้อง มาตรา 4 และมาตรา 19 แสดงว่าอธิการบดีซึ่งเป็นผู้แทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโจทก์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมมีอำนาจดำเนินกิจการทั่วไปแทนโจทก์ การฟ้องคดีเป็นสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม และความประสงค์ของนิติบุคคลแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลนั้น อธิการบดีผู้แทนของโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีในนามโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากสภามหาวิทยาลัย
จำเลยยอมรับว่าได้เช่าอาคารพาณิชย์พิพาทจากโจทก์ จึงไม่มีอำนาจต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่าอีก และหากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยครบกำหนดเวลาแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป แต่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารพาณิชย์ของโจทก์ ก็ถือได้ว่าจำเลยอยู่โดยไม่มีสิทธิอันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยเคยยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนได้ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า กรณียังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ พิพากษายกฟ้อง ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยยกขึ้นอ้าง อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีและเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) อันมีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นยังไม่รับคำฟ้อง เมื่อคดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยกลับมาฟ้องแย้งคดีนี้มีรายละเอียดและเหตุผลอย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ป.พ.พ. มาตรา 538 บังคับให้สัญญาเช่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับกันได้ เมื่อสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยมีกำหนดเวลาการเช่าแน่นอน จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา เป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
ร. เป็นนิติกรของโจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม ดูแลสัญญาเช่าพิพาท ถือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับพยานเอกสารในคดีที่ตนได้ตรวจสอบแล้ว สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ คำเบิกความของ ร. จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)
จำเลยได้ทราบถึงความมีอยู่ของสำนวนคดีที่ประสงค์อ้างเป็นพยานตั้งแต่ก่อนวันสืบพยาน แต่มาระบุอ้างเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสอง
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226
คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า เอกสารที่จำเลยขอให้ศาลเรียกจากบุคคลภายนอกไม่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทในคดี เป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า พยานหลักฐานที่ขอให้เรียกมานั้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเลยในคดีจะต้องนำสืบหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)
เจตนารมณ์ของการส่งสำเนาเอกสาร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 มุ่งประสงค์เพียงให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายันได้มีโอกาสตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้องไม่เสียเปรียบแก่กัน เมื่อโจทก์แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาท้ายคำฟ้อง ย่อมนับได้ว่าตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว สำหรับเอกสารอื่นที่มิได้เป็นประเด็นโต้เถียงกันในคดี โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารแก่จำเลย
สัญญาเช่า ข้อ 22 ระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าระงับลง ผู้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน หากไม่ดำเนินการผู้เช่ายินยอมให้ค่าเสียหายแก่ผู้ให้เช่าเป็นเงินวันละ 5,000 บาท ต่อคูหา นับแต่วันที่สัญญาเช่าระงับจนถึงวันที่ผู้เช่าส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนเสร็จเรียบร้อย หรือวันที่ผู้ให้เช่าได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าแล้วแต่กรณี ถือว่าสัญญาเช่าได้กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการให้เช่าอาคารพาณิชย์บริเวณพิพาทเป็นคูหาละ 154,200 บาท ต่อเดือน ใกล้เคียงกับเบี้ยปรับตามสัญญา จึงชอบด้วยเหตุผล

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 266/14 และ 266/15 ซอยสยามสแควร์ 3 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งส่งมอบอาคารคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนที่ค้างและค่าเสียหายถึงวันฟ้องจำนวน 506,403.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายเดือนละ 308,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา ข้อตกลงด้วยการส่งสัญญาเช่าให้จำเลยลงนามโดยมีกำหนดระยะเวลาปรับเปลี่ยนค่าเช่ากันใหม่ในอีก 7 ปี ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 49,300 บาท หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 266/14 และ 266/15 ซอยสยามสแควร์ 3 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร พร้อมส่งมอบให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนจำนวน 33,523.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 308,400 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากอาคาร แต่คิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 17 มิถุนายน 2548) ต้องไม่เกิน 472,880 บาท โดยให้นำเงินที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2550 จำนวน 1,054,624 บาท หักชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ศาสตราจารย์ดอกเตอร์สุชาดา ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด นายรังสรรค์ กรรมการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลย นายรังสรรค์เป็นกรรมการคนหนึ่งของบริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด โจทก์เป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์จำนวน 610 คูหา รวมทั้งอาคารพาณิชย์พิพาทเลขที่ 266/14 และ 266/15 ซอยสยามสแควร์ 3 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เดิมบริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด เป็นผู้เช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหา จากโจทก์ ต่อมาโจทก์ฟ้องขับไล่บริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด ออกจากอาคารพิพาท ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์กับนายรังสรรค์ทำบันทึกข้อตกลงมีสาระสำคัญว่า นายรังสรรค์ตกลงชำระหนี้ที่บริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด ค้างชำระตามสัญญาเช่าให้แก่โจทก์จำนวน 4,500,000 บาท โจทก์ตกลงยินยอมให้เปลี่ยนผู้เช่าจากบริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด มาเป็นจำเลยผู้เช่าแทน หลังจากนายรังสรรค์ชำระเงินตามข้อตกลง จำเลยได้ทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์โดยสัญญาเช่าระบุว่า กำหนดเวลาเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2546 สิ้นสุดลงวันที่ 30 เมษายน 2548 และโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีที่ฟ้องบริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด เป็นจำเลย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 ถึงเดือนกันยายน 2550 จำเลยโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์หลายครั้ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงอำนาจฟ้อง ไม่ปรากฏว่าอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอำนาจฟ้องบุคคลภายนอกได้โดยอาศัยบทบัญญัติของมาตราใด อำนาจของอธิการบดีโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19, 20 แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 เป็นอำนาจที่จะต้องปฏิบัติกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย ระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ส่วนบทบัญญัติของมาตรา 11 (1) และมาตรา 12 ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจกระทำการใด ๆ ของอธิการบดี การที่ศาลอุทธรณ์สรุปว่าค่าเช่าเป็นเงินผลประโยชน์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องไม่ถูกต้องและการฟ้องคดีบุคคลภายนอก สภามหาวิทยาลัยไม่ได้มอบอำนาจหรือมีหนังสือให้ฟ้องคดี ศาสตราจารย์ดอกเตอร์สุชาดา อธิการบดีจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์และไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์บุญสม ฟ้องคดีหรือมอบอำนาจช่วงได้ รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์บุญสมก็ไม่มีอำนาจที่จะมอบอำนาจช่วงให้นายรัฐการ เป็นโจทก์ฟ้องคดีได้เช่นกันนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง มาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2486 เป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้และเป็นนิติบุคคล” และมาตรา 19 บัญญัติว่า “ให้มีอธิการบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบงานทั้งปวงของมหาวิทยาลัย ฯลฯ” ดังนี้ แสดงว่าอธิการบดีซึ่งเป็นผู้แทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมมีอำนาจดำเนินกิจการทั่วไปแทนโจทก์ เมื่อนิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาและความประสงค์ของนิติบุคคลแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคลนั้น อีกทั้งการฟ้องคดีเป็นสิทธิของบุคคลในกระบวนการยุติธรรม หากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของนิติบุคคลโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง อธิการบดีผู้แทนโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีในนามโจทก์ได้ หาจำต้องได้รับมอบอำนาจจากสภามหาวิทยาลัยอีกไม่ เพราะสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่เพียงแต่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธินำอาคารพาณิชย์พิพาทออกให้เช่าเพื่อหารายได้หรือผลประโยชน์นั้น ก็เป็นการชี้ให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ เมื่อโจทก์นำสืบว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดี ศาสตราจารย์ดอกเตอร์สุชาดา ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้นำสืบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ตามภาระการพิสูจน์แล้ว ศาสตราจารย์ดอกเตอร์สุชาดา อธิการบดีโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีในฐานะผู้แทนโจทก์ และมีอำนาจมอบอำนาจให้รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์บุญสม ฟ้องคดีแทนหรือมอบอำนาจช่วงได้ เมื่อรองศาสตราจารย์ดอกเตอร์บุญสมมอบอำนาจช่วงให้นายรัฐการเป็นโจทก์ฟ้องคดีแล้ว นายรัฐการจึงมีอำนาจฟ้องคดีได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยของฎีกาว่า อธิการบดีของโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะเอาอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกให้เช่าและไม่มีอำนาจที่จะเรียกเก็บค่าเช่าเพิ่มตามอำเภอใจ เพราะเป็นการใช้อำนาจนอกกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยและขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ ทั้งการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยยอมรับว่าได้เช่าอาคารพาณิชย์พิพาทจากโจทก์แล้ว จำเลยย่อมไม่มีอำนาจต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่าดังเหตุผลต่าง ๆ ที่ยกขึ้นฎีกา ส่วนการกระทำของอธิการบดีผู้แทนโจทก์จะขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์หรือไม่ เพียงใด ก็เป็นเรื่องที่สภามหาวิทยาลัยของโจทก์กับอธิการบดีจะต้องไปว่ากล่าวกันเองไม่เกี่ยวกับจำเลย และเมื่อโจทก์เห็นว่าสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยครบกำหนดเวลาเช่าและโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยเช่าต่อไป แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยอยู่ในอาคารพาณิชย์ของโจทก์ หากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างก็ถือได้ว่าจำเลยอยู่ในอาคารพาณิชย์ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีจึงถือว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยของฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขแดงที่ 3156/2548 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่ได้รับคำฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 3156/2548 ไว้พิจารณานั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 3156/2548 แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ (คือ จำเลยคดีนี้) อ้างว่าสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลย (คือ โจทก์คดีนี้) เป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา จึงไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องมีการต่ออายุสัญญาหรือทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ และเมื่อจำเลยไม่ได้บอกเลิกสัญญาหรือมีหนังสือแจ้งเงื่อนไขให้โจทก์ไปทำสัญญาใหม่ จึงยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ ไม่มีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีการเรียกเก็บเงินตามที่โจทก์อ้างเกิดขึ้น การที่โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยทำสัญญาใหม่กับโจทก์โดยให้ปรับขึ้นค่าเช่าร้อยละ 40 ของค่าเช่าเดิมนั้น เป็นเพียงข้อเสนอของโจทก์ที่ประสงค์จะให้จำเลยปรับขึ้นค่าเช่า เมื่อจำเลยเพิกเฉย แสดงว่าจำเลยต้องการผูกพันตามสัญญาเดิมต่อไป สิทธิของโจทก์ย่อมมีอยู่ตามสัญญาเดิม ไม่มีการโต้แย้งสิทธิใด ๆ ของโจทก์เช่นกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ดังนี้ ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่จำเลยยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีและเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) อันมีผลเป็นการพิพากษาคดีแล้ว มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นยังไม่รับคำฟ้องดังที่จำเลยเข้าใจ และเมื่อคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยกลับมาฟ้องแย้งคดีนี้ซึ่งมีรายละเอียดและเหตุผลอย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยฟ้องแย้งของจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยของฎีกาว่า จำเลยมีสิทธินำสืบพยานบุคคลถึงเจตนาของคู่สัญญาว่า มีการปฏิบัติกันเป็นปกติประเพณีทำให้สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาโดยจะปรับเปลี่ยนค่าเช่ากันใหม่เมื่อครบกำหนด 10 ปี นั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการเช่าที่มีกำหนดเวลาแน่นอน ซึ่งการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 ฉะนั้น การที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่าการเช่าเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร เมื่อการนำสืบของจำเลยมิใช่เป็นการนำสืบว่าสัญญาเช่านั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิดแล้ว การนำสืบของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ศาลไม่อาจรับฟังพยานบุคคลดังกล่าวได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยของฎีกาว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานที่ไม่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานด้วยตนเองโดยตรงเกี่ยวกับการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์หรือข้อผูกพันตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงต้องห้ามมิให้รับฟัง แต่ศาลอุทธรณ์กลับวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้ออุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้งไม่รับวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยสรุปได้ว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าโดยตรงจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง ซึ่งถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ยกเหตุผลขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่รับฟังคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ก่อน เมื่อปรากฏว่านายรัฐการผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์มาเบิกความรับรองเอกสารสัญญาเช่าพิพาท แม้จะมิได้รู้เห็นขณะทำสัญญาก็ตาม แต่นายรัฐการดำรงตำแหน่งนิติกร มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม ดูแลสัญญาเช่าในสยามสแควร์ทั้งหมด รวมทั้งสัญญาเช่าพิพาทด้วย ถือว่านายรัฐการเป็นผู้เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร และเมื่อได้ตรวจสอบสัญญาเช่าและเอกสารต่าง ๆ แล้ว ก็สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ การที่ศาลชั้นต้นรับฟังคำเบิกความของนายรัฐการจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 (2)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยของฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับพยานลำดับที่ 1 ที่จำเลยอ้างเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ซึ่งเป็นพยานที่จำเลยเพิ่งทราบว่าได้มีอยู่และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสนอต่อศาล เนื่องจากเป็นพยานสำคัญแห่งคดีที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ และการที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้นำสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 3814/2546 ของศาลชั้นต้น มาผูกรวมกับคดีนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีหมายเลขแดงที่ 3814/2546 เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องบริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด เป็นจำเลย ซึ่งทั้งจำเลยและบริษัทบ้านฉัตรเพชร จำกัด ต่างมีนายรังสรรค์เป็นกรรมการ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยไม่ทราบว่าสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 3814/2546 ได้มีอยู่ก่อนวันสืบพยาน เมื่อจำเลยระบุอ้างเอกสารดังกล่าวเพิ่มเติมเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสอง ส่วนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากจำเลยไม่เห็นด้วยและประสงค์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นภายหลังก็จะต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้นำสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 3814/2546 ของศาลชั้นต้น มาผูกรวมกับคดีนี้จึงชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยของฎีกาว่า การที่จำเลยขอให้ศาลเรียกพยานเอกสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยประเด็นสำคัญแห่งพยานหลักฐานที่จำเลยขอให้ศาลเรียก (ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ลำดับที่ 3 ถึง 15) และศาลอุทธรณ์คาดคิดเอาเองว่าเอกสารดังกล่าวไม่น่าจะเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามอุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ความชัดแจ้งว่า เอกสารตามที่ออกคำสั่งเรียกเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์อย่างไร ทั้งเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารแต่ละอันดับที่จำเลยขอออกคำสั่งเรียกแล้ว ล้วนแต่เป็นเอกสารที่ไม่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ออกคำสั่งเรียกพยานเอกสารให้แก่จำเลยจึงชอบแล้ว ดังนี้ ถือว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นสำคัญแห่งพยานหลักฐานที่จำเลยขอให้ศาลเรียกโดยชัดแจ้งแล้วว่า เป็นเอกสารที่ไม่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไปว่า เอกสารแต่ละอันดับที่จำเลยขอให้เรียกไม่น่าจะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทในคดี ก็เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่จำเลยขอให้เรียกมานั้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเลยในคดีจะต้องนำสืบหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (1) หาใช่เป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์คาดคิดเอาเองดังที่จำเลยฎีกาไม่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยของฎีกาว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการรับฟังเอกสารไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า เจตนารมณ์ของการส่งสำเนาเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 มุ่งประสงค์เพียงให้ฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารมายันได้มีโอกาสตรวจสอบเอกสารก่อนเพื่อจะได้ซักค้านพยานได้ถูกต้องไม่เสียเปรียบแก่กัน เมื่อโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจช่วงมาท้ายคำฟ้อง ย่อมนับได้ว่าตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ส่วนสำเนาใบแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและบันทึกข้อความของสำนักงานจัดการทรัพย์สินของโจทก์นั้น มิได้เป็นประเด็นโต้เถียงกันในคดี เพราะจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนปี 2548 และค่าเช่าให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยก่อน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับเอกสารชอบแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามจำเลยของฎีกาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 308,400 บาท หรือคูหาละ 154,200 บาท ต่อเดือน เป็นการมุ่งให้ชดใช้ค่าเสียหายในการประกอบธุรกิจและการค้าโดยมิได้คำนึงถึงปกติประเพณีและวัฒนธรรมที่ได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ชอบนั้น เห็นว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยข้อ 22 ระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าระงับลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน หากผู้เช่าไม่ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ผู้เช่ายินยอมให้ค่าเสียหายแก่ผู้ให้เช่าเป็นเงินวันละ 5,000 บาท ต่อคูหา นับแต่วันที่สัญญาเช่าระงับจนถึงวันที่ผู้เช่าส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนเสร็จเรียบร้อย หรือวันที่ผู้ให้เช่าได้เข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าแล้วแต่กรณี ดังนี้ ถือว่าสัญญาเช่าได้กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ ” ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าอาคารพาณิชย์บริเวณพิพาท คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินของโจทก์กำหนดค่าเช่าคูหาละ 154,200 บาท อีกทั้งโจทก์นำอาคารพาณิชย์เลขที่ 266/11 ถึง 266/13 กับเลขที่ 292/1 และ 292/2 ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับอาคารพาณิชย์พิพาทให้บริษัทไดโซ ซังเกียว (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทซุปเปอร์ฟู้ด จำกัด เช่าในอัตราค่าเช่าคูหาละ 138,780 บาท และปรากฏว่าจำเลยก็นำอาคารพาณิชย์พิพาทห้อง 266/15 ให้บริษัทล้ำยุค (มิลเลนเนี่ยม 2002) จำกัด เช่าในอัตราค่าเช่าเดือนละ 250,000 บาท ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 308,400 บาท หรือคูหาละ 154,200 บาท ใกล้เคียงกับเบี้ยปรับตามสัญญานั้น จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
อนึ่ง ปรากฏว่าเงินที่จำเลยโอนเข้าบัญชีโจทก์เดือนละ 35,208 บาท นับตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 4 กันยายน 2550 รวมระยะเวลา 28 เดือน เป็นเงินจำนวน 985,824 บาท (ตามใบสำคัญการจ่ายเงิน) หาใช่จำนวน 1,054,624 บาท ไม่ ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองให้นำเงินจำนวน 1,054,624 บาท มาหักชำระหนี้โจทก์ก่อนนั้นจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือน จำนวน 33,523.25 บาท แก่โจทก์ (โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระค่าภาษีโรงเรือนจำนวนดังกล่าว) แต่ให้นำเงินจำนวน 985,824 บาท ที่จำเลยโอนเข้าบัญชีโจทก์มาหักชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก่อน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

Share