แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามฟ้องจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ได้
แม้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยดังกล่าวอาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็เป็นกฎหมายคนละฉบับกัน และโจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้อง จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวย่อมมิได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่
ขณะเกิดเหตุจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน ทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำฟ้อง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นข้าราชการพลเรือน ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย อันเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้กำกับดูแล และมีอำนาจแต่งตั้งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในตำแหน่งดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามที่ได้รับมอบหมาย เมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อระเบียบสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ.2554 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ เห็นว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา หรือผู้ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากได้รับแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา สำหรับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 6 มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการวิจัย การให้บริการและการฝึกอบรมตามมาตรา 6 (1) ถึง (5) และตามที่ระบุในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เพื่อให้มีการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก่อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมและถูกต้องกับวิวัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสถาบัน ตามมาตรา 11 ทั้งมีอำนาจแต่งตั้งประธานกรรมการ ผู้ว่าการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคำแนะนำของเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรา 13 วรรคสามด้วย ส่วนรายได้หลักสถาบันมาจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินอุดหนุนจากแหล่งอื่นและเงินที่มีผู้อุทิศให้ ค่าตอบแทนในการวิจัยและค่าบริการในการให้บริการภายในอำนาจหน้าที่ของสถาบัน กับดอกเบี้ยและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากการให้กู้ยืม การลงทุนและจากทรัพย์สินของสถาบัน ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) และในกรณีที่รายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถาบันและไม่สามารถหาเงินจากทางอื่นได้ มาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า รัฐพึงจ่ายเงินให้แก่สถาบันเท่าจำนวนที่จำเป็น นอกจากนี้ทรัพย์สินของสถาบันยังไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 10 อีกด้วย บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สถาบันแห่งนี้มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 39 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ปรากฏว่าสถาบันแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จำเลยจึงมิใช่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน และเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 ทั้งฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันแห่งนี้เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำฟ้อง จึงไม่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ และแม้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในเรื่องดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่การกระทำของจำเลยซึ่งอาจเป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายก็เป็นกฎหมายคนละฉบับกันและโจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้อง จะลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายย่อมมิได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยมีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการเป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นข้าราชการพลเรือนและรับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดิน เพียงแต่เข้าไปทำหน้าที่ประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ต้องถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการอันอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้นั้น เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามคำฟ้องเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มิได้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 6 ส่วนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หน่วยงานของรัฐทั้งสองแห่งจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน จะถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยของจำเลยเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยมิได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลและกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่น เพราะไม่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน