แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 ได้ยักยอกเงินของโจทก์ไป อันเป็นการรับผิดในมูลหนี้ละเมิด จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดตามมาตรา 206 ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ผิดนัดตามมาตรา 686 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อผู้ค้ำประกันกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
สำนักงานตรวจสอบภายในของโจทก์ได้ตรวจสอบบัญชีของสำนักงานการไฟฟ้าของโจทก์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการทุจริตยักยอกเงินกระแสไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนจำนวนหนึ่งเมื่อปี 2541 ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายครึ่งหนึ่งโดยโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ดังนี้ เมื่อมีการยักยอกเงินค่ากระแสไฟฟ้าไปอันเป็นการกระทำละเมิดเมื่อปี 2541 ถือว่าผู้ที่ยักยอกเงินค่ากระแสไฟฟ้ารวมทั้งจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระค่าเสียหายนับแต่วันทำละเมิดคือปี 2541เป็นต้นไป อายุความที่จะฟ้องร้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้ค้ำประกันจึงเริ่มนับแต่เมื่อนั้น โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2545 ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 มิจำต้องบังคับจากผู้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดทุกคนก่อนตามที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 อ้าง โจทก์จึงฟ้องร้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระหนี้อันเกิดจากค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ในการผลิต จำหน่าย พลังงานไฟฟ้า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งพนักงานบัญชี แผนกบัญชีและการเงินการไฟฟ้าอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานให้กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เบียดบังเงินของโจทก์ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวและร่วมกันสร้างหลักฐานลูกหนี้ค่าไฟฟ้าในระบบบัญชีอันเป็นเท็จของลูกค้ารายที่นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และรับเงินจากลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้าแล้วไม่ลงบัญชี เป็นเงิน 505,423.59 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 นำเงินมาใช้คืนบางส่วน ยังค้าง 436,703.14 บาท คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้เงินคนละ 218,365.07 บาท ต่อมาภายหลังโจทก์ตรวจหลักฐานพบว่ามีค่าเสียหายเพิ่มขึ้นอีกรวมเป็นเงิน 447,830.14 บาทโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้คนละ 223,915.07 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 นำเงินไปชดใช้บางส่วน คงค้างชำระ 167,782.14 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 223,915.07 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2543 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 25,190.44 บาท รวมเป็นเงิน 249,105.51 บาท ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินจำนวน 167,782.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2543 ถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 18,875.48 บาท รวมเป็นเงิน 186,657.62 บาท แก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การด้วยวาจารับว่า เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันขาดอายุความเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเกิน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 และมาตรา 193/30 ประกอบมาตรา 368 และสัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะขัดต่อมาตรา 699 มาตรา 150 ผู้บริหารประมาทเลินเล่อร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นการละเมิดผู้ทำละเมิดต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 420, 432 โจทก์ต้องใช้สิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้จากการละเมิดให้เสร็จสิ้นก่อน หลังจากนั้นจึงจะใช้สิทธิเรียกร้องจากผู้ค้ำประกันได้ตามมาตรา 687, 688 , 689 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 223,915.07 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 167,782.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อแรกว่า หนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์นั้นเริ่มนับอายุความตั้งแต่เมื่อใด และคดีนี้ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2532 ระบุว่าผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดไม่ว่าในหน้าที่การงานหรือจะเป็นกรณีใด ๆ ก็ตาม จึงเป็นความรับผิดต่อมูลหนี้ในอนาคตทุกประเภทอันบ่งชี้ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ทันทีนับตั้งแต่วันทำสัญญาค้ำประกันเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 อายุความตามสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2532 มิใช่นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับความเสียหายและโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/13 ซึ่งหนี้ตามสัญญาค้ำประกันการทำงานไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2545 ซึ่งพ้นกำหนด 10 ปี จึงขาดอายุความ เห็นว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 2 ได้ยักยอกไป อันเป็นการรับผิดในมูลหนี้ละเมิดจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดนับแต่วันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้และสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อผู้คำประกันกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า สำนักงงานตรวจสอบภายในของโจทก์ได้ตรวจสอบบัญชีของสำนักงานการไฟฟ้าของโจทก์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการทุจริตยักยอกเงินค่าไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนจำนวนหนึ่งเมื่อปี 2541 ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายครึ่งหนึ่ง โดยโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้จามเอกสารหมาย จ.13 จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ดังนี้ เมื่อมีการยักยอกเงินค่ากระแสไฟฟ้าไปอันเป็นการกระทำละเมิดเมื่อปี 2541 ถือว่าผู้ที่ยักยอกเงินค้ากระแสไฟฟ้าไปรวมทั้งจำเลยที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระค่าเสียหายนับแต่วันทำละเมิดคือปี 2541 เป็นต้นไป อายุความที่จะฟ้องร้องจำเลยที่ 4 และที่ 5 ผู้ค้ำประกันจึงเริ่มนับแต่เมื่อนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2545 ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ข้อ 2 ว่า โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระหนี้อันเกิดจากการค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า มูลหนี้จากการละเมิดด้วยการยักยอกเงินค่ากระแสไฟฟ้าคดีนี้มีผู้ต้องร่วมรับผิดหลายคน ซึ่งต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม โจทก์ต้องบังคับให้ผู้ร่วมรับผิดทุกคนให้ชำระหนี้ให้ครบถ้วนทุกคนก่อน จึงจะมีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและมิได้เกี่ยวกับการทำละเมิดให้รับผิด เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 มิจำต้องบังคับจากผู้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดทุกคนก่อนตามที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 อ้างแต่อย่างใด โจทก์จึงฟ้องร้องต่อศาลขอให้บังคับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ชำระหนี้อันเกิดจากค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ได้”
พิพากษายืน