คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6196/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีสำนวนแรกมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คจำนวนเงิน 110,000 บาทแก่โจทก์แล้ว และฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเช็คฉบับนี้ขาดอายุความเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงรับวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายและฎีกาของจำเลยที่ 2ในสำนวนหลัง โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ ครบกำหนดสั่งจ่ายแล้วธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนี้ฟ้องโจทก์ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติไว้แล้ว ส่วนวันที่โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาจากจำเลยเป็นวันใดและจำเลยมอบเช็คพิพาทชำระหนี้อะไรแก่โจทก์นั้น มิใช่สภาพแห่งข้อหาที่กฎหมายบังคับให้ต้องแสดงไว้ในคำฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์แก้วันสั่งจ่ายเงินในเช็คโดยสุจริตตามความยินยอมที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้แก่โจทก์ วันสั่งจ่ายในเช็คดังกล่าวจึงเป็นวันสั่งจ่ายที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ภายในเวลา 1 ปีนับแต่วันที่เช็คดังกล่าวถึงกำหนดสั่งจ่าย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นจำเลยในสำนวนหลัง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและเรียกจำเลยสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาประตูเชียงใหม่ 3 ฉบับ ซึ่งจำเลยทั้งสองออกเช็คดังกล่าวชำระหนี้ให้โจทก์ และเป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด สาขาตลาดต้นลำไย 1 ฉบับซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกเช็คดังกล่าวชำระหนี้แก่โจทก์ เช็คทั้ง4 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2533 สั่งจ่ายเงินจำนวน 110,000 บาท202,000 บาท 103,500 บาท และ 500,000 บาท เมื่อถึงกำหนดสั่งจ่ายธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คทั้ง 4 ฉบับ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 415,500 บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การเป็นใจความว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาเมื่อไร หนี้ค่าอะไร ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม จำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คทั้ง 4 ฉบับให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว และโจทก์ได้รับเช็คพิพาทไปเมื่อปี 2525 แต่โจทก์ลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 25 กรกฎาคม 2533 เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 110,000บาท และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินในแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำนวนแรกมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คจำนวนเงิน 110,000 บาทแก่โจทก์แล้ว และฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเช็คดังกล่าวขาดอายุความเพราะโจทก์ลงวันที่ในเช็คโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองใน 2 ประเด็นดังกล่าว คงวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมายและฎีกาของจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลัง
ปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องทั้งสองสำนวนโดยแสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ ครบกำหนดสั่งจ่ายแล้วโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ อันเป็นคำฟ้องให้จำเลยรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989และโจทก์ได้มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองบัญญัติไว้ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนวันที่โจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาจากจำเลยเป็นวันที่เท่าใดและจำเลยมอบเช็คพิพาทชำระหนี้อะไรแก่โจทก์นั้น มิใช่สภาพแห่งข้อหาที่กฎหมายบังคับให้ต้องแสดงไว้ในคำฟ้อง ดังนั้นแม้โจทก์จะมิได้บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมไปได้
ปัญหาที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับเช็คเอกสารหมาย จ.5 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์แก้วันสั่งจ่ายเงินในเช็คเอกสารหมาย จ.5 โดยสุจริตตามความยินยอมที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อกำกับไว้ใต้ช่องวันที่ในเช็คเอกสารหมาย จ.5 กรณีดังกล่าวถือได้ว่าวันสั่งจ่ายในเช็คเอกสารหมาย จ.5 เป็นวันสั่งจ่ายที่ชอบด้วยกฎหมายใช้ยันต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งให้ความยินยอมได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันที่เช็คเอกสารหมาย จ.5ถึงกำหนดสั่งจ่าย คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002
อนึ่ง จำเลยที่ 1 มิได้เป็นจำเลยในสำนวนหลัง การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงเป็นการไม่ชอบปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นเป็นข้อฎีกาไว้ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เองจึงเห็นควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์สำนวนแรกเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์คดีแรกชนะคดี กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ใช้ค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 2,000 บาท แทนโจทก์สำนวนแรกให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์สำนวนหลังและใช้ค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 3,500 บาท แทนโจทก์สำนวนหลังนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share