คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13140/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 คำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้นค่าจ้างจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างตามระยะเวลาการทำงานหรือเงินที่นายจ้างจ่ายโดยคำนวณตามผลงานก็ได้
ค่าคอมมิสชันเป็นเงินที่โจทก์จะจ่ายให้ลูกจ้างตามยอดของรถยนต์ที่ลูกจ้างจำหน่ายได้ ค่าคอมมิสชันจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนรถยนต์ที่ลูกจ้างจะจำหน่ายได้ ค่าคอมมิสชันจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในการจำหน่ายรถยนต์ของลูกจ้าง โดยคำนวณจ่ายตามผลงานการขายรถยนต์แต่ละคันและมีกำหนดจ่ายทุกเดือน ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้าง เมื่อโจทก์ไม่จ่ายค่าคอมมิสชันของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ให้แก่ น. และค่าคอมมิสชันนั้นเป็นค่าจ้างอันเป็นเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าคอมมิสชันให้แก่ น. ลูกจ้างได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง และมาตรา 124 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 14/2551
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับและไม่ได้โต้แย้งกันว่า นางสาวนิรามัยลูกจ้างโจทก์ได้ลาออกจากบริษัทโจทก์ไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 โดยโจทก์ยังมิได้จ่ายค่าคอมมิสชันหรือค่าส่งเสริมการขายจำนวน 9,500 บาท แก่นางสาวนิรามัย ซึ่งโจทก์จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณจากยอดจำหน่ายรถที่ลูกจ้างจำหน่ายได้ในแต่ละเดือน หากจำหน่ายได้มากก็จะได้ค่าคอมมิสชันมาก แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์จะจ่ายค่าคอมมิสชันให้แก่นางสาวนิรามัยซึ่งเป็นลูกจ้างตามอัตราที่ได้ตกลงกันไว้ โดยคำนวณจากยอดจำหน่ายรถ ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และเมื่อโจทก์ตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานกับโจทก์และลูกจ้างได้ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่แล้ว โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนตามสัญญาจ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจัดทำหนังสือลงลายมือชื่อลูกจ้างในการให้ความยินยอม หรือมีข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจนเป็นการเฉพาะว่าลูกจ้างยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างเพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 77 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าคอมมิสชันจำนวน 9,500 บาท แก่นางสาวนิรามัยลูกจ้าง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่าเงินค่าคอมมิสชันเป็นค่าจ้างหรือไม่และพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าคอมมิสชันได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าค่าคอมมิสชันที่โจทก์จ่ายให้แก่นางสาวนิรามัยไม่ใช่ค่าจ้าง เนื่องจากนางสาวนิรามัยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนจากโจทก์แล้ว ค่าคอมมิสชันเป็นเพียงเงินรางวัลพิเศษที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างในการขายรถได้มากขึ้นตามเป้าหมายที่โจทก์กำหนด ค่าคอมมิสชันจึงไม่ใช่ค่าจ้างนั้น เห็นว่า ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้กำหนดนิยามคำว่า ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้นค่าจ้างจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างตามระยะเวลาการทำงานหรือเงินที่นายจ้างจ่ายโดยคำนวณตามผลงานก็ได้ เมื่อคดีนี้คู่ความแถลงรับกันว่าค่าคอมมิสชันหมายถึงเงินที่โจทก์จะจ่ายให้ลูกจ้างตามยอดของสินค้าที่ลูกจ้างจำหน่ายได้ เช่นหากลูกจ้างจำหน่ายรถได้จำนวนเท่าใดก็จะได้ค่าคอมมิสชันเป็นอัตราตามที่ได้ตกลงกันไว้ในแต่ละคัน ค่าคอมมิสชันจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนรถที่ลูกจ้างจะจำหน่ายได้ และโจทก์ยังมิได้จ่ายค่าคอมมิสชันของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ให้แก่นางสาวนิรามัยนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าวค่าคอมมิสชันจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในการจำหน่ายรถยนต์ของลูกจ้าง โดยคำนวณจ่ายตามผลงานการขายรถยนต์แต่ละคันและมีกำหนดงวดเวลาจ่ายไว้แน่นอนโดยกำหนดจ่ายทุกเดือน ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายบทบัญญัติ มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเมื่อโจทก์มิได้จ่ายค่าคอมมิสชันของเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ให้แก่นางสาวนิรามัยและค่าคอมมิสชันนั้นเป็นค่าจ้างอันเป็นเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานจึงมีอำนาจพิจารณาและมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าคอมมิสชันดังกล่าวให้แก่นางสาวนิรามัยลูกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง และมาตรา 124 วรรคสาม คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share