คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7202/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าใดคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาดูภาพรวมทุกส่วนของเครื่องหมายนั้น ทั้งสำเนียง เสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนหรือที่จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนกลุ่มผู้ซื้อสินค้า ใช้เครื่องหมายการค้า และความสุจริตในการขอจดเครื่องหมายการค้า โดยสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความคล้ายนั้นถึงขนาดที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTO” ของจำเลยเปรียเทียบกับคำว่า “proton” ของโจทก์ เห็นได้ว่า คำว่า “PROTO” ประกอบด้วยอักษรโรมันที่เหมือนกัน 5 ตัวแรก นับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองคล้ายกันระดับหนึ่ง แต่ก็มีความแตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือ ต่างจดทะเบียนโดยใช้ตัวอักษรประดิษฐ์ที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTO” อาจเรียกขานได้ว่า โปร-โต หรือ โปร-โต้ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “proton” อาจเรียกขานได้ว่า โปร-ตอน หรือ โปร-ตัน สำเนียงเรียกขานจึงแตกต่างกัน เมื่อพิจารณารายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง คือ “PROTO” ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า ผ้าเบรก แผ่นคลัตซ์ คลัตช์ออโตเมติก ดุมล้อ ก้ามเบรก วงล้อ ซี่ลวดสำหรับรถจักรยานยนต์ ส่วน “proton” ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า รถยนต์ แล้ว เห็นได้ว่า แม้จะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างกันที่รายการสินค้าของจำเลยเป็นชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นช่างซ่อมหรือตกแต่งรถจักรยานยนต์ หรือผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีความสนใจในการซ่อมหรือตกแต่งรถจักรยานยนต์ สาธารณชนอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในกลุ่มผู้ใช้สินค้าดังกล่าวโดยตรง แม้จะเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้านี้ มักไม่ได้เป็นผู้ซื้อชิ้นส่วนอะไหล่หรืออุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ด้วยตนเอง กลุ่มคนที่ซื้อสินค้าเหล่านี้มักจะเป็นผู้คลุกคลี มีความคุ้นเคยและมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์เป็นอย่างดีพอสมควร บุคคลเหล่านี้ย่อมแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTO” ของจำเลยกับสินค้ารถยนต์หรือชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “proton” ของโจทก์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่าสินค้าของจำเลยมาก เครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTO” ของจำเลย จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “proton” ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13 และ มาตรา 6 (2) ประกอบมาตรา 8 (10)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTON” ขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTO” ตามคำขอเลขที่ 625902 เป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTON” ของโจทก์ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป และได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 625902 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียนหรือเข้าเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTO” ตามคำขอเลขที่ 625902 และเครื่องหมายอื่นใดที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “PROTON” ของโจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นแรกว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอเลขที่ 625902 ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ตามคำขอเลขที่ 462466 ทะเบียนเลขที่ ค. 159185 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาเปรียบ เทียบว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาดูภาพรวมทุกส่วนของเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้น ทั้งสำเนียง เสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้ารายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนและหรือที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนกลุ่มผู้ซื้อสินค้าใช้เครื่องหมายการค้า และความสุจริตในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นด้วย สาระสำคัญอยู่ที่ว่าความคล้ายนั้นถึงขนาดที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า จะเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอของจำเลยจะประกอบด้วยอักษรโรมันที่เหมือนกับตัวอักษร 5 ตัวแรกของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือตัวอักษร P, R, O, T และ O โดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีตัวอักษร “N” เพิ่มขึ้นเป็นตัวสุดท้ายอีกตัวเดียว นับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวมีความคล้ายกันระดับหนึ่ง แต่ก็มีความแตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือ เครื่องหมายการค้าคำว่า “” และคำว่า ต่างจดทะเบียนโดยใช้ตัวอักษรประดิษฐ์ที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน สำเนียงเสียงเรียกขานก็แตกต่างกัน โดยเครื่องหมายการค้าคำว่า “” อาจเรียกขานได้ว่า “โปร – โต” หรือ “โปร – โต้” ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า อาจเรียกขานได้ว่า “โปร – ตอน” หรือ “โปร – ตัน” และเมื่อพิจารณาถึงรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยเลขที่ 625902 คือ สินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า ผ้าเบรก แผ่นคลัตช์ คลัตช์ออโตเมติก ดุมล้อม ก้ามเบรกโซ่ วงล้อ ซี่ลวด และสเตอร์สำหรับรถจักรยานยนต์ กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้ารถยนต์ ที่ใช้เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค. 159185 แล้วเห็นได้ว่า แม้จะเป็นสินค้าเกี่ยวกับยานพาหนะด้วยกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างกันที่รายการสินค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเป็นชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นช่างซ่อมหรือตกแต่งรถจักยานยนต์หรือผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีความสนใจในการซ่อมหรือตกแต่งรถจักรยานยนต์ สาธารณชนอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในกลุ่มผู้ใช้สินค้าชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์โดยตรง แม้เป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่อาจใช้สินค้าดังกล่าวภายใต้เครื่องหมายการค้านี้ ก็มักไม่ได้เป็นผู้ซื้อสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ด้วยตนเอง กลุ่มคนที่ซื้อสินค้าเหล่านี้มักจะเป็นผู้คลุกคลี มีความคุ้นเคยและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์เป็นอย่างดีพอสมควร บุคคลเหล่านั้นย่อมสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของจำเลยกับสินค้าของโจทก์ได้ว่าสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ตามรายการสินค้าดังกล่าวที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของจำเลยไม่ใช่สินค้าที่มีเจ้าของหรือมีแหล่งกำเนิดเดียวกับสินค้ารถยนต์หรือสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่าราคาสินค้ารถจักรยานยนต์และอะไหล่มากและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอย่างที่โจทก์กล่าวอ้าง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอเลขที่ 625902 ของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ตามคำขอเลขที่ 462466 ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค. 159185 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า อันจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงได้รับการจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13 และมาตรา 6 (2) ประกอบมาตรา 8 (10) ตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์ที่คัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอเลขที่ 625902 จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share