แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตั๋วเงินอันมีลักษณะเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ย่อมโอนกันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ การสลักหลังต่อไปย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วเงินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 920 วรรคหนึ่ง และผู้ทรงซึ่งเป็นผู้รับโอนตั๋วเงินไปชอบที่จะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยในจำนวนเงินในตั๋วเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 968(1) การที่ตั๋วสัญญาใช้เงินกำหนดให้คิดดอกเบี้ยก่อนถึงกำหนดใช้เงินตามความในมาตรา 911 จำนวนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นจำนวนที่ต้องรวมเป็นยอดเงินที่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้รับอาวัลต้องผูกพันรับผิดเมื่อมีการไล่เบี้ย การสลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินจึงต้องเป็นการโอนไปทั้งจำนวนเต็มของยอดเงินที่กำหนดไว้ในตั๋วเงินและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามผลของมาตรา 911 กรณีจึงไม่อาจกำหนดให้มีการให้มีการจ่ายดอกเบี้ยออกไปจากตั๋วสัญญาใช้เงินก่อนได้ เพราะจะทำให้ความรับผิดในตั๋วสัญญาใช้เงินลดลง การระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินให้จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือนจึงเป็นการกำหนดข้อความอื่นใด ซึ่งมิได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. ลักษณะ 21 เรื่องตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่ตามมาตรา 899 ดังนั้น ข้อความที่เขียนให้มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็น “รายเดือน” จึงถือเสมือนว่าไม่มีการเขียนลงไว้ในตั๋วเงินโจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินรับผิดชำระค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นรายเดือนให้แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,615,324.01 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เนื่องจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 807,662 บาท แก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ทรง มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยเป็นรายเดือนตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อจำเลยที่ 2 ผิดนัดโจทก์จึงขอเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดจากดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับอาวัล เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงผูกพันเป็นอย่างเดียวกับผู้รับรองตั๋วแลกเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 986 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับอาวัลของจำเลยที่ 1 จึงผูกพันรับผิดเป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 อันเป็นบุคคลซึ่งตนประกันตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 985 วรรคหนึ่ง แต่ความรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินจะมีเพียงใดต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติในลักษณะ 21 เรื่องตั๋วเงิน แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 985 วรรคหนึ่ง ว่า ให้นำบทบัญญัติเรื่องตั๋วแลกเงินมาใช้กับตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย คือ มาตรา 911, 922, 967 ถึง 971 เป็นต้น ตามมาตรา 911 บัญญัติว่า ผู้สั่งจ่ายซึ่งหมายถึงผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จะกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 กำหนดระบุให้คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินจนถึงวันถึงกำหนดชำระ จึงเป็นการปฏิบัติไปตามความในบทบัญญัติมาตราดังกล่าว แต่การที่จำเลยที่ 1 ระบุให้มีการจ่ายดอกเบี้ย “รายเดือน” จะทำให้มีผลผูกพันชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนแก่โจทก์หรือไม่นั้น ได้ความว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตั๋วเงินอันมีลักษณะเป็นตราสารเปลี่ยนมือดังปรากฏตามมาตรา 917 ที่กำหนดให้ตั๋วเงินทุกฉบับย่อมโอนกันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ และการสลักหลังต่อไปย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วเงินนั้นตาม มาตรา 920 วรรคหนึ่ง สิทธิตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ผู้รับโอนโดยชอบจะได้รับไปมีเพียงใด ได้มีบทบัญญัติมาตรา 968 กำหนดว่า ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้นก็ได้ คือ (1) จำนวนเงินในตั๋วเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วย หากว่ามีข้อกำหนดไว้ว่าให้คิดดอกเบี้ย….ด้วยเหตุนี้ การที่ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งห้าฉบับกำหนดให้คิดดอกเบี้ยก่อนวันถึงกำหนดใช้เงินตามความในมาตรา 911 จำนวนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นจำนวนที่จะต้องรวมเป็นยอดเงินที่ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้รับอาวัลต้องผูกพันรับผิดเมื่อมีการไล่เบี้ยและเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นตราสารเปลี่ยนมือที่ผู้ทรงย่อมมีสิทธิสลักหลังโอนต่อไปได้ จึงต้องเป็นการโอนไปทั้งจำนวนเต็มของยอดเงินที่กำหนดไว้ในตั๋วเงินและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตามผลของมาตรา 911 ดังกล่าว กรณีไม่อาจกำหนดให้มีการจ่ายดอกเบี้ยออกไปจากตั๋วสัญญาใช้เงินก่อนได้ เพราะจะทำให้ความรับผิดในตั๋วสัญญาใช้เงินลดลง ไม่ต้องด้วยมาตรา 968 (1) การระบุในตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือนจึงเป็นการกำหนดข้อความอื่นใด ซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 21 ดังกล่าว ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่ตามมาตรา 899 ดังนั้น ข้อความที่เขียนให้มีการจ่ายดอกเบี้ยเป็น “รายเดือน” จึงถือเสมือนว่าไม่มีการเขียนลงไว้ในตั๋วเงิน ทั้งตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องมีมูลหนี้มาจากสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนเป็นข้อตกลงตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ที่เป็นเพียงผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท