คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11760/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับ อ. ต่างลงลายมือชื่อในสัญญากู้คนละฉบับ แต่สัญญากู้ทั้งสองฉบับไม่มีข้อความแสดงว่า โจทก์กับ อ. ร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลย ที่จำเลยนำสืบว่า สัญญากู้ทั้งสองฉบับเป็นการที่โจทก์กับ อ. ร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลย ส่งผลให้โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับ อ. เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมพยานเอกสาร ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
จำเลยให้ อ. กู้เงินโดยโจทก์มอบโฉนดที่ดินไว้เป็นประกัน การที่โจทก์ทำสัญญากู้ไว้ แต่มิได้ร่วมกับ อ. กู้ยืมเงินจากจำเลย โจทก์จึงไม่เป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 75759 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 โจทก์และนางอัจฉรียา ได้ไปพบจำเลยและโจทก์ได้มอบโฉนดที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยไว้กับโจทก์และนางอัจฉรียาต่างได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญากู้ยืมเงินคนละฉบับ ต่อมานางอัจฉรียาได้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลย แต่เช็คถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นางอัจฉรียาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เมื่อถูกดำเนินคดีนางอัจฉรียาได้ยกที่ดินของตนตีใช้หนี้บางส่วนให้แก่จำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้หรือไม่ สัญญากู้ยืมเงินที่นางอัจฉรียาลงลายมือชื่อไว้มีข้อความว่า นางอัจฉรียาได้กู้ยืมเงินจำเลยจำนวน 550,000 บาท และได้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 59491 มอบให้จำเลยไว้เป็นหลักประกัน แต่ในสัญญากู้ของนางอัจฉรียามีการระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า นางอัจฉรียาตกลงยอมเสียดอกเบี้ยให้จำเลยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กับมีการระบุวันถึงกำหนดชำระหนี้ไว้ว่า นางอัจฉรียาจะชำระหนี้ทั้งหมดภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2547 สัญญากู้ทั้งสองฉบับนี้ลงวันที่เดียวกัน คือ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 จึงเชื่อได้ว่าได้มีการทำสัญญากู้ทั้งสองฉบับในคราวเดียวกัน แต่ในสัญญากู้ทั้งสองฉบับไม่มีข้อความตอนใดที่เชื่อมโยงกันอันจะแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์และนางอัจฉรียาได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจำนวนเดียวกันไปจากจำเลย โดยเมื่ออ่านสัญญากู้ทั้งสองฉบับแล้วจะเข้าใจไปว่าเป็นเรื่องที่โจทก์และนางอัจฉรียาต่างกู้ยืมเงินจำเลยไปคนละ 550,000 บาท สัญญากู้ทั้งสองฉบับนี้จำเลยเบิกความเองว่า จำเลยเป็นผู้ให้โจทก์และนางอัจฉรียาทำขึ้น มิใช่โจทก์หรือนางอัจฉรียาเป็นฝ่ายขอทำสัญญากู้คนละฉบับ แต่จำเลยก็มิได้เบิกความถึงเหตุผลที่ได้จัดทำสัญญากู้แยกกันเป็นคนละฉบับทั้งที่อ้างว่าโจทก์และนางอัจฉรียาได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากจำเลยไปในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ยังเห็นว่า เมื่อสัญญากู้ทั้งสองฉบับไม่มีข้อความที่แสดงว่าเป็นการร่วมกันกู้ยืมเงิน การที่จำเลยเบิกความว่าสัญญากู้ทั้งสองฉบับเป็นการที่โจทก์และนางอัจฉรียาร่วมกันกู้ยืมเงิน อันจะเป็นผลให้โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับนางอัจฉรียา การเบิกความของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมพยานเอกสารซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) การที่สัญญากู้ทั้งสองฉบับไม่สอดคล้องกับเรื่องที่จำเลยนำสืบโดยไม่ปรากฏเหตุผลเช่นนี้จึงทำให้เป็นพิรุธ และทำให้เห็นไปได้ว่า ความจริงน่าจะเป็นเรื่องที่จำเลยให้นางอัจฉรียากู้ยืมเงินโดยโจทก์ได้มอบโฉนดที่ดินให้ไว้เป็นหลักประกันมากกว่าที่จะเป็นเรื่องที่โจทก์และนางอัจฉรียาร่วมกันกู้ยืมเงินจำเลย ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาจึงสนับสนุนให้เชื่อได้ว่า นางอัจฉรียาเพียงคนเดียวที่ได้กู้ยืมเงินจำเลยไปตามที่โจทก์นำสืบ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ทำสัญญากู้ให้แก่จำเลยไว้ แต่เมื่อโจทก์มิได้ร่วมกู้ยืมเงินและมิได้ตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลย จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดที่ดินของโจทก์ไว้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 75759 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ คืนแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share