คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7379/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมให้การในชั้นแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทาน จำเลยที่ 2 มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการขับรถและมิได้เป็นตัวการตัวแทนกับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาจำเลยร่วมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ โดยขอเพิ่มเติมว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-2541 สิงห์บุรี โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วยจนไปเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด กล่าวคือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งช่างก่อสร้างชั้น 3 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ขับรถยนต์ของจำเลยร่วมได้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งหมายความว่า มีหน้าที่ขับรถเฉพาะรถยนต์ของจำเลยร่วมเท่านั้น แต่ในวันเวลาที่เกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 กลับไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุที่ไม่ใช่รถยนต์ของจำเลยร่วม โดยไม่ได้ขออนุญาตเดินทางไปราชการและไม่ได้ขออนุมัติการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุ ประกอบกับวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการและมีบุคคลอื่นคือนาง ป. ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมนั่งไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งพนักงานส่งน้ำ แต่ไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยร่วมประสงค์จะให้การยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่และใช้ข้อความนี้แทนข้อความเดิมที่ว่า จำเลยที่ 2 นั่งในรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่เปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทานนั่นเอง เพียงแต่มิได้ระบุว่าขอตัดข้อความตามคำให้การเดิมและขอใช้ข้อความใหม่ตามที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมแทน กับมีข้อความตอนท้ายที่ระบุขอถือตามคำให้การเดิมทุกประการ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเป็นการผิดหลงหรือสับสนเท่านั้น ไม่ควรนำมาเป็นเหตุให้ถือว่าคำให้การของจำเลยร่วมดังกล่าวมานั้นขัดแย้งกันเพราะขัดต่อเหตุผลตามปกติธรรมดา แต่ควรถือเอาข้อความที่มีเหตุผลสื่อให้เข้าใจได้ตามความตั้งใจที่แท้จริงที่แสดงจนไม่ปรากฏให้เห็นได้ว่ามีเจตนาหรือตั้งใจยืนยันให้การในข้อเท็จจริงใดยิ่งกว่า จึงถือไม่ได้ว่าคำให้การจำเลยร่วมขัดแย้งกันจนไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 408,720 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 380,205 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 จำนวน 383,013 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 356,292 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 15,033 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 13,985 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชดใช้เงินแก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 58,023 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 53,975 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งหกขอให้เรียกกรมชลประทานเข้าเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 4 ถึงแก่กรรม โจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน และโจทก์ที่ 5 ถึงแก่กรรม นางผอบ ภักดี ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ทั้งหกโดยได้ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งหก 275,000 บาท โจทก์ทั้งหกจึงขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งหกเฉพาะส่วนที่ขาดและโจทก์ทั้งหกยังไม่ได้รับชำระจากจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน345,836 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 เมษายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2ได้รับในต้นเงินจำนวนไม่เกิน 297,205 บาท โจทก์ที่ 3 และที่ 4 ได้รับในต้นเงินจำนวนไม่เกิน 259,646 บาท โจทก์ที่ 5 ได้รับในต้นเงินจำนวนไม่เกิน 13,985 บาทและโจทก์ที่ 6 ได้รับในต้นเงินจำนวนไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้โจทก์ทั้งหกได้รับดอกเบี้ยตามอัตราส่วนของต้นเงินที่ตนมีสิทธิได้รับ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหก โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้กำหนดตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งหกชนะคดี และยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนจำเลยร่วมให้ตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยร่วมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งหกตามที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งหกโดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมาเพราะต้องไปปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทาน จำเลยที่ 2 มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการขับรถและมิได้เป็นตัวการตัวแทนกับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาจำเลยร่วมยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ โดยขอเพิ่มเติมว่า การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น – 2541 สิงห์บุรี โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งไปด้วยจนไปเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด กล่าวคือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งช่างก่อสร้างชั้น 3 ซึ่งได้รับอนุมัติให้ขับรถยนต์ของจำเลยร่วมได้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 ซึ่งหมายความว่า มีหน้าที่ขับรถเฉพาะรถยนต์ของจำเลยร่วมเท่านั้น แต่ในวันเวลาที่เกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 1 กลับไปขับรถยนต์คันเกิดเหตุที่ไม่ใช่รถยนต์ของจำเลยร่วม โดยไม่ได้ขออนุญาตเดินทางไปราชการและไม่ได้ขออนุมัติการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุ ประกอบกับวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันหยุดราชการและมีบุคคลอื่นคือนางปัญญาพร ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมนั่งไปด้วยส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยร่วมในตำแหน่งพนักงานส่งน้ำ แต่ไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าได้ขับรถไปดูน้ำในพื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุนั้น จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ฉะนั้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดในคดีนี้ จำเลยร่วมก็ไม่ต้องรับผิดด้วย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 นอกจากที่จำเลยร่วมขอแก้ไขเพิ่มเติมนี้แล้ว ขอถือตามคำให้การเดิมของจำเลยร่วมทุกประการ เห็นว่า แม้ในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ จำเลยร่วมไม่ได้ขอตัดข้อความในคำให้การเดิมที่เป็นทำนองรับว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 ขับรถไปปฏิบัติหน้าที่และกลับมีข้อความตอนท้ายคำร้องว่า ขอถือตามคำให้การเดิมของจำเลยร่วมทุกประการอยู่ก็ตาม แต่ตามปกติธรรมดาไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จำเลยร่วมจะตั้งใจแสดงข้อเท็จจริงตรงกันข้ามกันเช่นนี้ไปด้วยกันในคำให้การของตน การมีข้อความในคำให้การแสดงข้อเท็จจริงตรงกันข้ามเช่นนี้ขึ้นจึงน่าจะเกิดจากความผิดหลงหรือสับสนโดยไม่ตั้งใจมากกว่า และเมื่อพิจารณาข้อความรายละเอียดในคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยร่วมก็ปรากฏว่า จำเลยร่วมอ้างว่าคำให้การที่ยื่นไว้เดิมยังมีข้อบกพร่องอยู่ เพราะจำเลยร่วมเพิ่งทราบผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเหตุคดีนี้ตามระเบียบราชการว่า การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถไปจนเกิดเหตุคดีนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้ หากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดก็เป็นการต้องรับผิดเฉพาะตัว จะฟ้องจำเลยร่วมไม่ได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 6 จึงขอให้การเพิ่มเติมตามข้อความดังกล่าวข้างต้นที่ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่พร้อมแสดงเหตุผลประกอบโดยละเอียด ซึ่งข้อความตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวมานี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า จำเลยร่วมประสงค์จะให้การยืนยันข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่และใช้ข้อความนี้แทนข้อความเดิมที่ว่า จำเลยที่ 2 นั่งในรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่เปิดปิดการระบายน้ำในการชลประทานนั่นเอง เพียงแต่มิได้ระบุว่าขอตัดข้อความตามคำให้การเดิมและขอใช้ข้อความใหม่ตามที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมแทน กับมีข้อความตอนท้ายที่ระบุขอถือตามคำให้การเดิมทุกประการ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเป็นการผิดหลงหรือสับสนเท่านั้น ไม่ควรนำมาเป็นเหตุให้ถือว่าคำให้การของจำเลยร่วมดังกล่าวมานั้นขัดแย้งกันเพราะขัดต่อเหตุผลตามปกติธรรมดา แต่ควรถือเอาข้อความที่มีเหตุผลสื่อให้เข้าใจได้ตามความตั้งใจที่แท้จริงที่แสดงจนปรากฏให้เห็นได้ว่ามีเจตนาหรือตั้งใจยืนยันให้การในข้อเท็จจริงใดยิ่งกว่า จึงถือไม่ได้ว่าคำให้การจำเลยร่วมขัดแย้งกันจนไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยในข้อเท็จจริงนี้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share