คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเดินไปหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้พูดหรือทำกิริยาอาการอย่างใดที่ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุเพื่อหลบหนีและผู้เสียหายวิ่งตามไปทันขณะจำเลยนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว แล้วจำเลยถูกผู้เสียหายกระชากคอเสื้อและบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์เพื่อแย่งเอาเงินคืน จำเลยได้เตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การที่จำเลยเตะผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายตามไปแย่งเอาเงินคืนนั้นจึงเป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ผู้เสียหายขัดขวางการหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุทั้งเมื่อจำเลยได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปแล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดไว้หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุและติดเครื่องยนต์แต่ผู้เสียหายวิ่งตามไปทันจึงกระชากคอเสื้อจำเลยแล้วบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาจะใช้รถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุและใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี
จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษและรอการลงโทษเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แม้ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยไม่ได้ขอให้อนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เมื่อพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วการกระทำของจำเลยสร้างความเดือนร้อนแก่เจ้าของทรัพย์ กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี จำเลยจึงต้องระวางโทษหนักกว่าอีกกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 340 ตรี เป็นระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 7 ปี 6 เดือน ดังนั้น แม้วางโทษจำคุกขั้นต่ำแก่จำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วก็ยังคงต้องลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน โทษจำคุกจึงเกิน 3 ปี ไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี จำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่ เนื่องจากศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การวินิจฉัยปัญญาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2549 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาจอดหน้าร้านค้าที่เกิดเหตุของผู้เสียหายแล้วพูดขอเงินจากผู้เสียหาย 50 บาท แต่ผู้เสียหายไม่ให้ จำเลยจึงเดินไปหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหายซึ่งใส่ไว้ในถุงพลาสติกอยู่ในตะกร้าแล้ววิ่งหนีไปที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดไว้หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุดังกล่าวผู้เสียหายวิ่งตามไปทันขณะจำเลยนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจึงกระชากคอเสื้อจำเลยและบิดากุญแจรถดับเครื่องยนต์แล้วแย่งเอาเงินคืน ระหว่างนั้นจำเลยได้เตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง ผู้เสียหายจึงร้องตะโกนขอความช่วยเหลือก์มีคนมาช่วยจับจำเลยไว้ เห็นว่า แม้ขณะที่จำเลยเดินไปหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหาย จำเลยไม่ได้พูดหรือทำกิริยาอาการอย่างใดที่ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุเพื่อหลบหนีและผู้เสียหายวิ่งตามไปทันขณะจำเลยนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ดังกล่าวแล้วจำเลยถูกผู้เสียหายกระชากคอเสื้อและบิดกุญแจรถดังเครื่องยนต์เพื่อแย่งเอาเงินคืนแต่จำเลยได้เตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอนจากการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การที่จำเลยเตะผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายตามไปแย่งเอาเงินคืนนั้นจึงเป็นพฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ผู้เสียหายขัดขวางการหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จะลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ ซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุทั้งเมื่อจำเลยได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปแล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดไว้หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุและติดเครื่องยนต์แต่ผู้เสียหายวิ่งตามไปทันจึงกระชากคอเสื้อจำเลยแล้วบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาจะใช้รถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุและใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์นั้นไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แม้ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยไม่ได้ขอให้อนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เมื่อพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้วการกระทำของจำเลยสร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าของทรัพย์ กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนปัญหาว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี จำเลยจึงต้องระวางโทษหนักกว่าอีกกึ่งหนึ่งตามมาตรา 340 ตรี เป็นระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 7 ปี 6 เดือน ดังนั้น แม้วางโทษจำคุกขั้นต่ำแก่จำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วก็ยังคงต้องลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน โทษจำคุกจึงเกิน 3 ปี ไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share