แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บันทึกหลังทะเบียนการหย่า ที่ระบุว่าบ้านเลขที่ 11/1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง พร้อมกับที่ดินปลูกสร้างบ้านยกให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 บุตรทั้ง 3 คน นั้น เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้ ส. ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามได้และสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 193/30 แห่ง ป.พ.พ. มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ส. เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 นับถึงวันฟ้องวันที่ 9 เมษายน 2542 เกิน 10 ปี คดีของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ส. เป็นกรณีสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกซึ่งสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และสิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แสดงเจตนาต่อ ส. ผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาโดยให้โอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญาให้ตนเมื่อต้นปี 2534 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ ส. โอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญานับแต่เวลาที่แสดงเจตนาดังกล่าวซึ่งนับถึงวันฟ้องวันที่ 9 เมษยน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ขาดอายุความ ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในภายหลังได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 375 ส. จึงไม่มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนให้โดยเสน่หาระหว่าง ส. กับจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินระหว่าง นายสง่ากับจำเลยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 11451 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และบ้านเลขที่ 11/1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ให้จำเลยในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์ของนายสง่าจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 หากไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 212,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 11451 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 ระหว่างนายสง่ากับจำเลย ให้จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 11/1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และที่ดินโฉนดพิพาทดังกล่าว ให้จำเลยในฐานะทายาทของนายสง่าจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จำเลยชดใช้เงิน 212,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสี่และจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์ที่ 1 กับนายสง่าเคยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีสินสมรสร่วมกันเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 11451 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และบ้านเลขที่ 11/1 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 โจทก์ที่ 1 กับนายสง่าได้จดทะเบียนหย่าโดยทำบันทึกหลังทะเบียนหย่าว่าจะยกบ้านเลขที่ 11/1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง พร้อมที่ดินที่ปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งที่เป็นบุตร และเมื่อต้นปี 2534 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ติดต่อกับนายสง่าให้โอนที่ดินแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แล้ว นายสง่าเพิกเฉย อันเป็นการแสดงเจตนาต่อนายสง่าว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วต่อมานายสง่าได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยและนำจำเลยเข้ามาอยู่กินในบ้านเลขที่ 11/1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 นายสง่าได้จดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 11451 เฉพาะส่วนของนายสง่าให้แก่จำเลย แล้วนายสง่าถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2541
คดีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คดีโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ โดยในข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้นำคดีมาฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นายสง่าถึงแก่ความตาย คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงขาดอายุความ เป็นการฎีกาในทำนองว่าคดีของโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความในเรื่องมรดก ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้คงให้การต่อสู้ไว้เฉพาะอายุความในเรื่องสัญญา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า บันทึกหลังทะเบียนการหย่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้นำคดีมาฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 กับนายสง่าจดทะเบียนหย่ากัน คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า บันทึกหลังทะเบียนการหย่า ที่ระบุบ้านเลขที่ 11/1 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง พร้อมกับที่ดินปลูกสร้างบ้านยกให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 บุตรทั้ง 3 คนนั้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้นายสง่าลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามได้และสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสง่าเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2531 นับถึงวันฟ้องวันที่ 9 เมษยน 2542 เกิน 10 ปี คดีของโจทก์ที่ 1 จึงขาดอายุความ ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายสง่า เป็นกรณีสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกซึ่งสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 และสิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แสดงเจตนาต่อนายสง่าผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาโดยให้โอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญาให้ตนเมื่อต้นปี 2534 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้นายสง่าโอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญานับแต่เวลาที่แสดงเจตนาดังกล่าวซึ่งนับถึงวันฟ้องวันที่ 9 เมษายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี คดีของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ขาดอายุความ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนายสง่าโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วน ข้อ 4 ระบุชัดเจนว่า ให้เฉพาะที่ดิน สามีให้ภริยาชอบด้วยกฎหมายโดยเสน่หาจึงเป็นการให้โดยไม่มีค่าตอบแทน ข้อที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้ยืมเงินจากนายสงัดไปไถ่ถอนจำนองจำนวน 50,000 บาทนั้น ก็ได้ความจากนายสงัดพยานจำเลยเบิกความว่า นายสง่าเป็นผู้มาขอกู้เงินจากพยานเพื่อไปไถ่ถอนจำนองโดยมากับจำเลย ทั้งตามสารบัญจดทะเบียนก็ระบุว่า นายสง่ากับโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2534 แสดงว่านายสง่าเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองก่อนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นเวลาถึง 2 ปีเศษ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจากนายสง่าโดยไม่เสียค่าตอบแทน ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้แสดงเจตนาต่อนายสง่าผู้เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกแล้ว นายสง่าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในภายหลังได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375 นายสง่าจึงไม่มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ขอให้เพิกถอนการโอนให้โดยเสน่หาระหว่างนายสง่ากับจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1