คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2339/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 ที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของ บริษัท ธ. โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญา คือ บริษัท ธ. ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอโดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจาก บริษัท ธ. โดยใส่ชื่อ ส. กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทนคำเสนอของบริษัท ธ. จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อ ส. การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใด ๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไปว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง เพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัท ธ. โดนใส่ชื่อ ส. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทน จึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัท ธ. ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 253,015.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้น 193,865.57 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยสั่งซื้อสีทาอาคารจากโจทก์เป็นเงิน 641,865.57 บาท ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2541 บริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ได้ส่งโทรสารถึงโจทก์ขอชำระหนี้แทนจำเลย โดยเสนอโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 37692 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทธำรงพัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์กรรมการผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยนั้นได้มีการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ยังไม่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด หนี้ตามสัญญาซื้อขายเดิมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 บัญญัติว่า แปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นจะทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่จะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมหาได้ไม่ ตามมาตราดังกล่าวที่กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นสัญญานั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแสดงเจตนาโดยมีคำเสนอและคำสนองตรงกันก็ย่อมถือว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาต่อกันได้แล้ว ตามคำเสนอข้อตกลงการชำระหนี้ของบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวเสนอโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตีมูลค่าราคาที่ดินเป็นเงิน 448,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลืออีกจำนวน 193,865.57 บาท ผู้รับสัญญาคือบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ทำบันทึกข้อตกลง ซึ่งต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2541 โจทก์ก็ได้สนองรับคำเสนอ โดยโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทธำรงพัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์กรรมการผู้จัดการโจทก์ไว้แทน คำเสนอของบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด จึงตรงกับคำสนองของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับโอนที่ดินไว้แล้วโดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์ การโอนหนี้ดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีการขืนใจลูกหนี้แต่อย่างใด จึงเป็นการแปลงหนี้โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 หนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 หนี้ที่เกิดขึ้นใหม่จึงเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป
ที่โจทก์ฎีกาว่า เจตนาของคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายที่มีอยู่ในร่างบันทึกข้อตกลงย่อมแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่าย อันได้แก่ โจทก์ จำเลยและบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ประสงค์ที่จะทำความตกลงกันโดยละเอียดก่อนแล้วจึงทำเป็นหนังสือแต่เมื่อปรากฏว่าคู่สัญญาทั้งสามฝ่ายยังไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ จึงถือว่าสัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งโจทก์เห็นว่ากรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้น การที่บริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงเป็นการชำระหนี้บางส่วนของจำเลย หนี้ส่วนที่เหลือระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่ระงับสิ้นไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่มีกรณีใด ๆ ที่จะต้องสงสัยอีกต่อไปเพราะโจทก์ยินยอมรับโอนที่ดินจากบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด โดยใส่ชื่อนายสืบพงศ์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ไว้แทนแล้ว ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 บัญญัติว่า อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอการที่โจทก์รับโอนที่ดินจึงเป็นการสนองเจตนาไปถึงบริษัทธำรงค์พัฒนาการ จำกัด ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น โดยมิจำต้องทำเป็นหนังสือ หนี้ระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันระงับ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share