คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ร. ยังมิได้แบ่งปันแก่ทายาท บุตรของ ร. ทุกคนซึ่งเป็นทายาทจึงมีสิทธิในที่ดินเท่า ๆ กัน การที่ ว. และจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินมรดกจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่น ๆ ว. ย่อมไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทางด้านทิศเหนือของที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ร. ไปขายแก่โจทก์โดยที่ทายาททุกคนไม่ยินยอม การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดย ว. ส่งมอบให้จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาท ในฐานะครอบครองแทนทายาทของ ร. เช่นเดียวกับ ว. เท่านั้น เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์ เมื่อต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ร. ได้โอนขายที่ดินทั้งหมดซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ร. แก่จำเลยที่ 2 โดยมีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิมาโดยสุจริต จำเลยที่ 2 ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกของ ร. ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเดิมนางรอย มารดาจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองปี ๒๕๓๓ นางรอยถึงแก่ความตายที่ดินจึงเป็นมรดกแก่ทายาทคือนางสวงค์หรือวงศ์และจำเลยที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๒๕ โจทก์ซื้อที่ดิน จากนางวงค์แล้วรับมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไว้ยึดถือ และครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ต่อมาปี ๒๕๒๗ โจทก์นำที่ดินพิพาทและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ค้ำประกันหนี้ไว้แก่นางน้อย อัตตาภิบาล ต่อมาทางราชการเปลี่ยนหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนด จำเลยที่ ๑ ใช้อุบายยืมโฉนดที่ดินจากนางน้อยแล้วนำไปประกอบการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางรอย ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้บุกรุกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจึงทราบว่า จำเลยที่ ๑ นำที่ดินมรดกของนางรอยรวมทั้งที่ดินพิพาทขายให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็น ส่วนของโจทก์และจำเลยที่ ๒ ทำนิติกรรมโดยไม่สุจริต ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง โดยให้ขับไล่จำเลยที่ ๒ ออกจากที่ดินพิพาท และชดใช้ค่าเสียหายปีละ ๑๕,๐๐๐ บาท นับแต่ ปี ๒๕๓๖ เป็นต้นไป จนกว่าจะออกจากที่ดินพิพาทกับให้พิพากษาว่าการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในส่วนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ เป็นโมฆะ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินส่วนที่ทับที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นทรัพย์มรดกของนางรอย และนางรอย มีบุตร ๘ คน รวมทั้งจำเลยที่ ๑ และนางวงค์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก นางวงค์ไม่เคยขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ นางรอยไม่เคยยกที่ดินพิพาทให้แก่บุตรคนใด เมื่อปี ๒๕๒๔ นางวงค์นำที่ดินทรัพย์มรดกของนางรอยไปประกันเงินกู้โจทก์ โดยให้ทำกินต่างดอกเบี้ยและมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาทายาทของ นางรอยตกลงให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๒ เพื่อนำเงินมาแบ่งกันระหว่างทายาท โดยจำเลยที่ ๑ ได้ชำระหนี้เงินกู้ของนางวงค์แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริต สัญญาซื้อขายและสัญญากู้ตามฟ้องเป็นเอกสารปลอม ที่ดินพิพาทปลูกข้าวได้ไม่เกินปีละ ๒,๕๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๑๒ ไร่ ในโฉนดที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้จำเลยทั้งสอง จัดการโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ ๒ และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ ๑๕,๐๐๐ บาท ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ จนกว่าจำเลยที่ ๒ และบริวารจะออกไปจาก ที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทมีชื่อนางรอย เป็นผู้ครอบครอง ทำประโยชน์ เมื่อนางรอยถึงแก่กรรมในปี ๒๕๒๓ ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นมรดกตกแก่ทายาทคือบุตรทั้งแปดคน โดยจำเลยที่ ๑ และนางวงค์ บุตรของนางรอยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ปี ๒๕๒๕ นางวงค์ขายเฉพาะที่ดินพิพาทให้โจทก์และปี ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกนางรอยขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ให้การต่อสู้คดีด้วยว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนางรอย บุตรของนางรอยทุกคนตกลงขายที่ดินมรดกรวมทั้งที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ ๒ เพื่อนำเงินมาแบ่งปันกัน คดีจึงมีประเด็นวานางวงค์มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปขายแก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดกของนางรอยที่ยังมิได้แบ่งปันแก่ทายาท ดังนั้นบุตรของนางรอยทุกคนซึ่งเป็นทายาทจึงมีสิทธิในที่ดินเท่า ๆ กัน การที่นางวงค์และจำเลยที่ ๑ ครอบครองที่ดินมรดกจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่น ๆ นางวงค์ย่อมไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทางด้านทิศเหนือของที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนางรอยไปขายแก่โจทก์โดยที่ทายาททุกคนไม่ยินยอม การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยนางวงค์ส่งมอบให้ จึงเป็นการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะครอบครองแทนทายาทของนางรอยเช่นเดียวกับนางวงค์เท่านั้น เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังไม่โอนมาเป็นของโจทก์ เมื่อปรากฏต่อมาว่าทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว และจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกนางรอยได้ โอนขายที่ดินทั้งหมดซึ่งเป็นทรัพย์มรดกนางรอยแก่จำเลยที่ ๒ โดยมีค่าตอบแทน และจำเลยที่ ๒ เป็นบุคคลภายนอก ได้จดทะเบียนรับโอนสิทธิมาโดยสุจริต จำเลยที่ ๒ ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกนางรอยทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๐ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ .

Share