คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7330/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายจ้างบอกเลิกจ้างลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 และไม่ให้ลูกจ้างทำงานตั้งแต่วันดังกล่าว คงจ่ายแต่เฉพาะสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้าง เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลา สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่เป็นค่าจ้าง
นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 และไม่จ่ายค่าจ้างให้ตั้งแต่วันดังกล่าว การเลิกจ้างจึงมีผลตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2541 ในวันที่จำเลยเลิกจ้าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ยังไม่มีผลใช้บังคับ การที่ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชยเพียงใด จึงเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 (3) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเป็นเวลา ๒๘ ปี ๕ เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวนสามร้อยวัน เป็นเงิน ๓๑๖,๔๕๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวนเก้าสิบวัน เป็นเงิน ๙๔,๙๓๕ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชย ๓๑๖,๔๕๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๙๔,๙๓๕ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การเลิกจ้างโจทก์ จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยจำนวนหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน ๑๘๙,๘๗๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๖๓,๒๙๐ บาท แก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชย ๑๘๙,๘๗๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๖๓,๒๙๐ บาท ให้โจทก์แล้ว และเป็นการจ่ายที่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างมีผลในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันนั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ ได้ให้ความหมายคำว่า ค่าจ้าง ไว้ว่า หมายความว่า “เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย…” จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ และไม่ให้โจทก์ทำงานตั้งแต่วันดังกล่าว คงจ่ายแต่เฉพาะสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เท่านั้น เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือในวันหยุดซึ่งโจทก์ไม่ได้ทำงานและในวันลา สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่เป็นค่าจ้าง จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ และไม่จ่ายค่าจ้างให้ตั้งแต่วันดังกล่าว การเลิกจ้างจึงมีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๑ หาใช่เลิกจ้างในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ ดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๑ ในวันที่จำเลยเลิกจ้าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ยังไม่มีผลใช้บังคับ การที่โจทก์จะได้ค่าชดเชยเพียงใด จึงเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ (๓) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเลิกจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน เป็นเงิน ๑๘๙,๘๗๐ บาท และจำเลยจ่ายให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพิ่มอีก คำพิพากษาศาลแรงงานกลางส่วนนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share