แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยได้ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะไปรับเมทแอมเฟตามีน รถยนต์กระบะจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งจำเลยได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 29,30
ผู้คัดค้านซึ่งอ้างตัวเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะของกลางนำสืบแต่เพียงเป็นผู้มีชื่อในสำเนารายการจดทะเบียน ซึ่งเอกสารดังกล่าวมิใช่หลักฐานที่แสดงว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพราะเป็นเพียงหลักฐานที่ทางราชการออกให้เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรถยนต์เท่านั้น พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานของผู้ร้องที่มีพนักงานสอบสวนมายืนยันว่าในชั้นสอบสวนจำเลยยอมรับว่ารถยนต์กระบะเป็นของตน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดหรือไม่
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 2456ประจวบคีรีขันธ์ ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดหรือร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้องและคืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 2456 ประจวบคีรีขันธ์ ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ไม่ริบรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนบ – 2456 ประจวบคีรีขันธ์ ของกลาง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าตามวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์กล่าวในฟ้องร้อยตำรวจเอกศรายุทธ คงทอง กับพวก จับกุมจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2167/2542 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเพราะตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางบรรจุในถุงพลาสติกวางอยู่ที่บริเวณคอนโซลกลางของตัวรถ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการแรกมีว่า รถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากนายพลคนขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ แล้วนำมาวางไว้ที่คอนโซลรถยนต์กระบะของกลางเพื่อจะนำไปให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เสพ แต่ขณะขับรถยนต์กระบะดังกล่าวมาก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจค้นและจับกุม ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกได้ใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นยานพาหนะไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางรถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29, 30 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าริบรถยนต์กระบะของกลางไม่ได้นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางหรือไม่ ผู้คัดค้านนำสืบแต่เพียงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลาง โดยมีชื่อในสำเนารายการจดทะเบียนซึ่งเอกสารดังกล่าวก็มิใช่หลักฐานที่แสดงว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพราะเป็นเพียงหลักฐานที่ทางราชการออกให้เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีรถยนต์เท่านั้น ฝ่ายผู้ร้องมีร้อยตำรวจโทอาทร วิเศษสาธรพนักงานสอบสวนมาเบิกความยืนยันว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และตามสำเนาบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 แผ่นที่ 2จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นของตนเหตุที่มีชื่อผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็เนื่องจากขณะที่มีการซื้อขายและจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพขับรถยนต์โดยสารประจำทางไม่มีเวลามาดำเนินการจึงใส่ชื่อผู้คัดค้านแทน คำให้การดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุนั้นเอง ยังไม่มีโอกาสคิดดัดแปลงแต่งเติมเสริมต่อข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ จึงเชื่อได้ว่าให้การต่อพนักงานสอบสวนไปตามความจริง พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักฟังได้ว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านไม่ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานของผู้ร้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดหรือไม่”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น