คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8450/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานในทำนองเดียวกันกับพินัยกรรมเป็นสำคัญ มิได้มุ่งถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการเป็นเจ้าของกระดาษหรือวัตถุที่ทำให้ปรากฏความหมายเป็นเอกสารซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ไว้เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว คำว่า “เอาไปเสีย” ตามมาตรา 188 จึงมิได้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกับคำว่า “เอาไปเสีย” ที่ใช้ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 แต่หมายถึงเอาไปจากที่เอกสารนั้นอยู่ในประการที่น่าจะเกิดจากความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจขาดเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน
ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีเป็นเอกสารที่โจทก์ร่วมจัดทำขึ้นมอบให้แก่จำเลยที่ 1 นำไปใช้เก็บค่าสินค้าซึ่งหากลูกค้าชำระค่าสินค้าจำเลยที่ 1 จะต้องมอบใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้ลูกค้าไป ส่วนสมุดบัญชีเงินฝากโจทก์ร่วมเปิดบัญชีเพื่อประโยชน์ในการหักทอนบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากกิจการที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม โดย ว. หรือจำเลยที่ 1 คนใดคนหนึ่งลงชื่อประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมมีสิทธิเบิกถอนเงินได้ และเมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วเงินคงเหลือก็คือค่าบำเหน็จตอบแทนการขายซึ่งตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งนับแต่เปิดบัญชีจำเลยที่ 1 เป็นผู้เบิกถอนเงินและเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากตลอดมา ดังนั้น แม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ต้องส่งคืนใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีรวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยที่ 1 ยึดหน่วงไว้ไม่ยอมส่งคืนอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในทางแพ่งยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 กันยายน 2539 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีจำนวน 8 ฉบับ และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เลขบัญชี 232-1-02838-0 จำนวน 1 เล่ม ของบริษัทศรีไทยฟู้ดส์ เซอร์วิส จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายวันชัย รุ่งภูวภัทร ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่นายวันชัย โรงแรมภูเก็ตคาบาน่า บริษัทแดงพลาซ่า โฮเต็ล จำกัด บริษัทป่าตองเมอร์ลิน จำกัด บริษัทกระบี่รีสอร์ท จำกัด บริษัทป่าตองรีสอร์ท จำกัด บริษัทสงขลารามาเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัททักษิณสยาม จำกัด และผู้อื่นหรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทศรีไทย ฟู้ดส์ เซอร์วิส จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นจำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายวันชัย รุ่งภูวภัทร เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ร่วมในการจำหน่ายสินค้าโดยตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะนำสินค้าของโจทก์ร่วมไปเสนอขายแก่ลูกค้าทั่วไป เมื่อมีผู้สั่งซื้อ จำเลยที่ 1 จะส่งคำสั่งซื้อไปให้แก่โจทก์ร่วม จากนั้นโจทก์ร่วมจะเป็นผู้ส่งสินค้าไปยังผู้สั่งซื้อตามที่จำเลยที่ 1 แจ้งมาแล้วออกใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีไว้ จำเลยที่ 1 จะให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องชายไปรับใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีจากโจทก์ร่วมเพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปเก็บเงินจากลูกค้าผู้สั่งซื้อ เมื่อถึงวันสิ้นเดือนโจทก์ร่วมจะทำเอกสารใบสรุปยอดจำนวนสินค้าที่จำเลยที่ 1 ส่งคำสั่งซื้อมาและได้ส่งให้แก่ลูกค้าผู้สั่งซื้อแล้วในเดือนนั้น เอกสารนี้จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับราคาขาย ราคาต้นทุน ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและรายการอื่นๆ และจะมีสรุปให้ทราบว่าในเดือนนั้นจำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ร่วมเท่าใด และจำเลยที่ 1 จะได้เงินค่าบำเหน็จในการซื้อขายในเดือนนั้นเท่าใด โดยค่าบำเหน็จนี้จำเลยที่ 1 จะได้รับเมื่อเก็บเงินค่าสินค้าที่ขายได้แล้ว ผลต่างระหว่างราคาขายกับราคาทุนจะตกได้แก่จำลยที่ 1 โจทก์ร่วมต้องส่งเอกสารฉบับนี้ไปให้จำเลยที่ 1 ภายในวันที่ 3 ของเดือนถัดไป เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับเอกสารแล้ว มีสิทธิเลือกชำระหนี้ตามที่โจทก์ร่วมแจ้งมาได้ 2 วิธี ถ้าชำระด้วยเงินเชื่อสามารถกระทำได้ภายใน 90 วัน แต่ถ้าชำระด้วยเงินสดต้องชำระภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดมานั้น ถ้าจำเลยที่ 1 ชำระด้วยเงินสดก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี ปี 2539 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม จำเลยที่ 1 ได้เลือกวิธีชำระด้วยเงินสดมาโดยตลอดออกเช็คให้แก่โจทก์ร่วมในวันที่ 5 ของเดือนถัดไปทุกเดือน เมื่อได้รับแจ้งยอดจำนวนเงินตามเอกสารที่โจทก์ส่งมา ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 ถึง ล.10 ในการดำเนินธุรกิจระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1นี้ โจทก์ร่วมได้ยื่นคำขอเปิดบัญชีตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาย่อยถนนสุขาภิบาล 3 ซึ่งทางธนาคารได้ออกสมุดคู่ฝากตามเอกสารหมาย ล.3 ให้เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ผู้มีอำนาจถอนเงินจากบัญชีนี้คือนายวันชัยหรือจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อประทับตราโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสมุดคู่ฝากของบัญชีนี้ตลอดมา เมื่อจำเลยที่ 1 ไปเก็บเงินจากลูกค้าผู้สั่งซื้อที่จะชำระหนี้โดยสั่งจ่ายเช็คจะสั่งจ่ายให้แก่โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 จะนำเช็คมาเข้าเรียกเก็บเงินในบัญชีเอกสารหมาย ล.3 แล้วเบิกถอนเงินจากบัญชีนี้ ในการถอนเงินจำเลยที่ 1 จะลงลายมือชื่อในใบถอนเงินแล้วให้จำเลยที่ 2 นำใบถอนเงินไปประทับตราของโจทก์ร่วมที่ที่ทำงานของโจทก์ร่วม นับตั้งแต่ใช้วิธีการนี้ในการทำธุรกิจกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2536 จนถึงเดือนสิงหาคม 2539 จำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ถอนเงินจากบัญชีเอกสารหมาย ล.3 นี้ และเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมเรียกเก็บเงินได้ทั้งหมด ในการนำใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ออกไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้าผู้สั่งซื้อสินค้าผ่านทางจำเลยที่ 1 นั้น หากใบเสร็จฉบับใดไม่อาจเรียกเก็บเงินได้ ถ้าเป็นลูกค้าใหม่ซึ่งไม่เคยสั่งซื้อมาก่อนโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 จะร่วมกันรับผิดชอบคนละครึ่งแต่ถ้าเป็นลูกค้าเก่าที่เคยสั่งซื้อมาก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียว กรณีที่มีปัญหาคือเดือนกันยายน ปี 2539 โจทก์ร่วมส่งสินค้าแก่ลูกค้าผู้สั่งซื้อผ่านทางจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 และออกใบเสร็จรับเงินตามเอกสาร ล.12 ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มารับใบเสร็จดังกล่าวไป แต่ใบเสร็จเหล่านี้ยังไม่มีการเรียกเก็บเงินจากลูกค้าผู้สั่งซื้อ วันที่ 5 ตุลาคม 2539 โจทก์ร่วมมีหนังสือตามเอกสาร จ.5 ถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งว่าได้ปลดจำเลยทั้งสองจากการเป็นตัวแทน และให้นำเอกสารและทรัพย์สินของโจทก์ร่วมมาคืนภายใน 7 วัน จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 16 ตุลาคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.6 ตอบกลับไปยังโจทก์ร่วมว่าให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ค่าตอบแทนการขายให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะยอมคืนให้ ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2539 นายวันชัยนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานในทำนองเดียวกับพินัยกรรมเป็นสำคัญ มิได้มุ่งถึงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการเป็นเจ้าของกระดาษหรือวัตถุที่ทำให้ปรากฏความหมายเป็นเอกสารซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์ไว้เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว คำว่า “เอาไปเสีย” มาตรา 188 จึงมิได้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกับคำว่า “เอาไปเสีย” ที่ใช้ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 แต่หมายถึงเอาไปจากที่เอกสารนั้นอยู่ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนที่อาจต้องขาดเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐาน แต่ใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีจำนวน 8 ฉบับ ตามฟ้องนั้นเป็นเอกสารที่โจทก์ร่วมจัดทำขึ้นมอบให้แก่จำเลยที่ 1 นำไปใช้เก็บค่าสินค้าซึ่งหากลูกค้าชำระค่าสินค้า จำเลยที่ 1 จะต้องมอบใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีให้แก่ลูกค้าไป สมุดบัญชีเงินฝากนั้น โจทก์ร่วมเปิดบัญชีเพื่อประโยชน์ในการหักทอนบัญชีหนี้สินระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่เกิดจากกิจการที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม โดยนายวันชัยกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมหรือจำเลยที่ 1 คนใดคนหนึ่งลงชื่อประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมมีสิทธิเบิกถอนเงินได้ และเมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วเงินคงเหลือก็คือบำเหน็จตอบแทนการขายซึ่งตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งยังได้ความว่านับตั้งแต่เปิดบัญชีเป็นต้นมา จำเลยที่ 1 เป็นผู้เบิกถอนเงินและเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวตลอดมา ดังนั้นแม้ต่อมาโจทก์ร่วมได้ถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วม ทำให้สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งคืนใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีรวมทั้งสมุดบัญชีเงินฝากตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วม แต่จำเลยที่ 1 ยึดหน่วงไว้ไม่ยอมส่งคืนอันเป็นการกระทำที่ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมกล่าวอ้างมาในฎีกา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในทางแพ่ง ตามพฤติการณ์ที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาดังกล่าว ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share