คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10542/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) บริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนว ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362 จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยเข้าไปปลูกต้นไม้ในที่เกิดเหตุ เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา หมู่ที่ 7 ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายและนางอำพร เป็นพยานเบิกความได้ความว่า ผู้เสียหายเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1256 ตำบลน้ำทรง อำเภอพระยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และบริเวณที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1256 ดังกล่าว แต่ตามภาพถ่ายปรากฏว่าระหว่างที่ดินพิพาทและที่ดินของผู้เสียหายมีถนนสาธารณะกั้นตลอดแนวซึ่งตรงกับระวางรูปถ่ายของรูปที่ดินและเขตติดต่อตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ทำให้ที่ดินพิพาทไม่ติดกับที่ดินของผู้เสียหายเนื่องจากมีทางสาธารณะคั่น ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ที่งอกริมตลิ่งไม่ตกเป็นทรัพย์สินของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 ซึ่งมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนเป็นเจ้าของเท่านั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share