คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2209/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือค้ำประกันข้อ2ระบุว่าธนาคาร(จำเลยที่3)รับรองว่าขณะใดที่ได้รับหนังสือแจ้งความจากโจทก์ว่าจำเลยที่1ปฏิบัติผิดสัญญาและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ภายในวงเงินที่ค้ำประกันไม่ว่าทั้งหมดหรือเฉพาะส่วนใดก็ตามจำเลยที่3ยอมชำระเงินทดแทนภายในกำหนด15วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวเป็นต้นไปแต่โจทก์จะต้องแจ้งเหตุแห่งการปฏิบัติผิดสัญญาให้ธนาคารทราบภายในกำหนด15วันนับแต่วันที่เหตุการณ์นั้นๆได้เกิดขึ้นข้อความข้อดังกล่าวเป็นการค้ำประกันจำเลยที่1ต่อโจทก์โดยไม่มีเงื่อนไขแม้ข้อความตอนท้ายระบุให้โจทก์แจ้งให้จำเลยที่3ทราบภายในกำหนด15วันก็เป็นเพียงกำหนดเวลาที่จะต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรู้ตัวว่าจะต้องรับผิดเท่านั้นหาใช่เงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่การที่จำเลยที่1แจ้งให้จำเลยที่3ทราบถึงการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่1เกินกำหนด15วันย่อมไม่ทำให้จำเลยที่3พ้นความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันทำสัญญาขายขวดน้ำหอมพลาสติกพร้อมฝาปิดขวด จำนวน 4 แบบ เป็นเงินทั้งสิ้น1,060,000 บาท ให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ภายในวงเงินไม่เกิน 106,000 บาท จำเลยที่ 1และที่ 2 ผิดสัญญา ไม่จัดส่งสินค้าให้แก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1และที่ 2 และเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 297|,421.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 109,643.75 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า หลังจากทำสัญญากับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรและแม่แบบของขวดน้ำหอมที่โจทก์ต้องการสำหรับการส่งมอบตามสัญญา ต่อมาโจทก์ขอเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอีกหลายครั้งโดยให้ผลิตเพียงเล็กน้อยและส่งให้โจทก์คัดเลือกก่อน จนล่วงเลยกำหนดการส่งมอบตามสัญญา ในที่สุดโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าได้ล่วงเลยกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าตามสัญญาและสินค้าของจำเลยทั้งสองมีรอยรั่วซึมไม่สามารถนำไปใช้ในงานตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง และให้บังคับโจทก์ส่งมอบหนังสือค้ำประกันคืนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายใน 15 วัน นับแต่วันศาลพิพากษา ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ออกหนังสือค้ำประกันไว้ต่อโจทก์เพื่อเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริง แต่จำเลยที่ 3หาต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ไม่ เนื่องจากโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดและผิดสัญญา โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่สุจริต โดยโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจริงโจทก์สามารถใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2533 อันเป็นวันครบกำหนดส่งมอบสินค้างวดที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จะต้องแจ้งเหตุแห่งการปฏิบัติผิดสัญญาให้จำเลยที่ 3 ทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้น แต่โจทก์หาได้บอกกล่าวแจ้งเหตุการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาให้จำเลยที่ 3 ทราบ ภายในกำหนดดังกล่าวไม่ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 จึงหลุดพ้นหน้าที่ความรับผิดที่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ และไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาหนังสือค้ำประกันคืนจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนังสือค้ำประกันข้อ 2 ระบุว่าธนาคาร (จำเลยที่ 3) รับรองว่าขณะใดที่ได้รับหนังสือแจ้งความจากโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ภายในวงเงินที่ค้ำประกันไม่ว่าทั้งหมดหรือเฉพาะส่วนใดก็ตามจำเลยที่ 3 ยอมชำระเงินแทนภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งความดังกล่าวเป็นต้นไป แต่โจทก์จะต้องแจ้งเหตุแห่งการปฏิบัติผิดสัญญาให้ธนาคารทราบภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่เหตุการณ์นั้น ๆ ได้เกิดขึ้น เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ข้อความตอนท้ายจะระบุให้โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบภายในกำหนด 15 วันก็เป็นเพียงกำหนดเวลาที่จะต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกันคือ จำเลยที่ 3รู้ตัวว่าจะต้องรับผิดเท่านั้น หาใช่เงื่อนไขจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่ เพราะข้อความในสัญญาข้อ 3 ดังกล่าวมิได้ระบุชัดเท่านั้น ดังนั้นการที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบถึงการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 แม้จะเกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถส่งมอบสินค้าตามสัญญาให้แก่โจทก์ตามงวดที่ระบุในสัญญาซื้อขาย ข้อ 4.7 ย่อมไม่ทำให้จำเลยที่ 3พ้นความรับผิด จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน285,810.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดโจทก์ด้วยในวงเงิน 106,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share