คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ทราบการเลิกจ้างและไม่ไปทำงานตั้งแต่วันดังกล่าวโจทก์ไปทำหนังสือยินยอมการสละสิทธิเรียกร้องของโจทก์ หลังจากโจทก์ไม่ไปทำงานถึง 2 เดือนเศษ โจทก์จึงมีอิสระแก่ตน พ้นพันธะกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามเอกสารดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ จึงมีผลใช้บังคับ
เอกสารฉบับพิพาทระบุว่า จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ 169,600 บาท โจทก์ทราบแล้วตกลงรับเงินจำนวนดังกล่าวโดยจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าชดเชยหรือเงินใด ๆจากจำเลยอีก ซึ่งเงินใด ๆ ที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอีกดังกล่าวนั้น ย่อมหมายถึงเงินทุกประเภท รวมทั้งค่าล่วงเวลาที่โจทก์อาจจะมีสิทธิได้รับจากจำเลยด้วย เมื่อการสละสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2539 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่สถาปนิกสนาม ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 48,000 บาทเบี้ยเลี้ยงอีกเดือนละ 2,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยทำหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลวันที่ 3มีนาคม 2542 โจทก์รับหนังสือวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 จึงแจ้งจำเลยว่าการบอกกล่าวไม่ครบกำหนดตามกฎหมาย จำเลยเลื่อนเวลาให้มีผลวันที่ 25มีนาคม 2542 โจทก์ทำงานถึงวันที่ 9 มีนาคม 2542 แล้วจำเลยสั่งให้หยุดและจ่ายค่าจ้างให้จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2542 โจทก์ทำงานครบ 3 ปีแต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้เพียง 90 วัน และไม่นำเบี้ยเลี้ยงมาคำนวณค่าชดเชย จึงจ่ายค่าชดเชยขาดจำนวน 156,000 บาท และไม่จ่ายค่าล่วงเวลาอีกรวม 1,435 ชั่วโมง เป็นเงิน 429,171.82 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าชดเชย ค่าล่วงเวลากับดอกเบี้ยรวม 688,249.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 585,171.82 บาท ให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยทำหนังสือเลิกจ้างโจทก์วันที่ 3 กุมภาพันธ์2542 โดยให้มีผลวันที่ 9 มีนาคม 2542 และมิได้ขยายเวลาจนถึงวันที่ 25มีนาคม 2542 จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์ตกลงไม่เรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2539 โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 50,000 บาทจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 โจทก์ทำงานติดต่อกันยังไม่ครบ 3 ปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 150,000 บาท แต่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2542ซึ่งเป็นเวลาหลังจากโจทก์ออกจากงานแล้วโจทก์ทำหนังสือยินยอมรับเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยจำนวน169,000 บาท และจะไม่เรียกร้องค่าชดเชยหรือเงินใด ๆ จากจำเลยอีกโดยความสมัครใจและอิสระ การสละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยส่วนที่เหลือและค่าล่วงเวลาจึงมีผลใช้บังคับได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยส่วนที่เหลือและค่าล่วงเวลาจากจำเลยอีก พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า หนังสือยินยอมที่โจทก์ตกลงรับเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยสละสิทธิไม่เรียกร้องค่าชดเชยหรือเงินใด ๆ จากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างอีกตามเอกสารหมาย ล.5 เป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ทราบการเลิกจ้างและไม่ไปทำงานตั้งแต่วันดังกล่าวต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 โจทก์จึงไปทำหนังสือยินยอมตามเอกสารหมาย ล.5 อันเป็นระยะเวลาหลังจากโจทก์ไม่ไปทำงานถึง 2 เดือนเศษโจทก์จึงมีอิสระแก่ตน พ้นพันธะกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องตามเอกสารดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ จึงมีผลใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลย

และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เอกสารหมาย ล.5 ไม่ได้ระบุว่าโจทก์สละสิทธิค่าล่วงเวลา จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้สละเงินดังกล่าวนั้น เห็นว่า เอกสารหมายล.5 ระบุว่าจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม2542 โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้169,600 บาท โจทก์ทราบแล้วตกลงรับเงินจำนวนดังกล่าวโดยจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าชดเชยหรือเงินใด ๆ จากจำเลยอีกซึ่งเงินใด ๆ ที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอีกดังกล่าวนั้นย่อมหมายถึงเงินทุกประเภทรวมทั้งค่าล่วงเวลาที่โจทก์อาจจะมีสิทธิได้รับจากจำเลยด้วย เมื่อการสละสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาจากจำเลย”

พิพากษายืน

Share