คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 15 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าการนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป เป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่าย อันเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด และให้ใช้ข้อความใหม่แทนเป็นว่า การนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนตามการคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่ หรือมีน้ำหนักตามจำนวนดังกล่าว เป็นเพียงการสันนิษฐานว่าเป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่ายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 นี้ บัญญัติไม่ให้นำไปใช้บังคับย้อนหลังแก่คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปก่อนหน้าแล้ว เมื่อคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ก่อนที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ได้ ดังนั้น ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณากำหนดโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ในส่วนของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 65 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นคนไทยออกไปนอกราชอาณาจักรนอกช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง ปรับ 1,500 บาท ฐานเป็นคนไทยเข้ามาในราชอาณาจักรนอกช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง ปรับ 1,500 บาท รวมปรับ 3,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 2,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวน 14 หน่วยการใช้ และมีน้ำหนักสุทธิ 1.210 กรัม มีเพียงการคำนวณสารบริสุทธิ์ 0.394 กรัม ที่เกินไปจากที่กฎหมายกำหนด จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง และลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ขอให้ปรับบทลงโทษ วางโทษใหม่ และลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีของจำเลยที่ 2 มีคำพิพากษาศาลฎีกาและคดีถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 กรณีไม่มีเหตุตามกฎหมายให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลปรับบทลงโทษ วางโทษ และลดมาตราส่วนโทษใหม่ ยกคำร้อง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555
ครั้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 จึงขอให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่ 2 ทำนองเดียวกันนี้ และอ่านให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 แล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า ศาลกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ใหม่ โดยใช้มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 กำลังรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 15 วรรคสาม ที่ให้ถือว่าการนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป เป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่าย อันเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาด และให้ใช้ข้อความใหม่แทนเป็นว่า การนำเข้าซึ่งเมทแอมเฟตามีนตามการคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่หรือมีน้ำหนักตามจำนวนดังกล่าว ให้เป็นเพียงการสันนิษฐานว่าเป็นการนำเข้าเพื่อจำหน่ายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 นี้ บัญญัติไม่ให้นำไปใช้บังคับย้อนหลังแก่คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อคดีของจำเลยที่ 2 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ก่อนที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ว่าเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ได้ ดังนั้น ศาลฎีกาไม่อาจพิจารณาข้อฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้กำหนดโทษจำเลยที่ 2 ใหม่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share