แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 กำหนดคำนิยามว่า การฝึกอบรม หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงาน หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาจัดที่แน่นอน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร “กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง” อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบดังกล่าวได้ จำเลยต้องคืนเงินที่เบิกไปแก่โจทก์
คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลย ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 และรับเงินไปจากโจทก์แล้วโดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับหรือยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 113,911.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 99,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 99,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 เมษายน 2558 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยเคยทำงานเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ มีตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ จำเลยได้สมัครและโจทก์อนุมัติให้เข้าอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. (กรรมการตุลาการศาลปกครอง) รับรอง รุ่นที่ 2 ระหว่างเดือนมกราคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2554 โดยจำเลยเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมดังกล่าวไปจากโจทก์เป็นเงิน 99,000 บาท และภายหลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงว่า ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมดังกล่าวไม่สามารถนำมาเบิกจากทางราชการได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 โจทก์จึงแจ้งให้จังหวัดสมุทรปราการเรียกเงินคืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ยินยอม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2559 โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงินที่รับไปพร้อมดอกเบี้ยต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยมีสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง หรือไม่ โจทก์มีนางสาวธันย์จิรา เบิกความเป็นพยานว่า มูลเหตุแห่งคดีสืบเนื่องจากกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 สั่งการให้โจทก์ตรวจสอบการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง ของข้าราชการในสังกัดเนื่องจากการอบรมหลักสูตรดังกล่าว ผู้เข้ารับการอบรมไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่าย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 4 ที่กำหนดคำนิยามว่า การฝึกอบรม หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงาน หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาจัดที่แน่นอน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพซึ่งหากพบว่า มีการอนุมัติเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการอบรมดังกล่าว หรือการอบรมที่ดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบนี้ก็ให้เรียกเงินคืน และในกรณีนี้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้ตอบข้อหารือว่า การเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะได้วุฒิบัตร กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง โดยเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ฉะนั้น หลักสูตรดังกล่าวจึงเป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าว ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2555 ในข้อ 4 ให้ยกเลิกข้อความข้อ 7 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน คือ “ข้อ 7 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้วินิจฉัย” และได้ยืนยันว่า ผู้ฝึกอบรมกรณีนี้ไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายได้ สำหรับกรณีของโจทก์กลุ่มตรวจสอบภายในของโจทก์ มีหนังสือลงวันที่ 9 มีนาคม 2558 เรียนอธิบดีกรมที่ดินว่าตรวจสอบข้อมูลผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรที่มีปัญหาดังกล่าวแล้วพบว่า จำเลยซึ่งเป็นอดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้สมัครเข้ารับการอบรมหลักสูตรดังกล่าวนี้ รุ่นที่ 2 ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2554 และเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรนี้ เป็นเงิน 99,000 บาท โจทก์มีบันทึกลงวันที่ 11 มีนาคม 2558 แจ้งจังหวัดสมุทรปราการให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการเรียกเงินคืนจากจำเลยจำนวน 99,000 บาท และนำส่งคลังให้ครบถ้วน จังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือลงวันที่ 30 เมษายน 2558 แจ้งว่า จังหวัดสมุทรปราการมีหนังสือแจ้งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวเพื่อนำส่งคลังจังหวัด แต่จำเลยมีหนังสือมายังจังหวัดสมุทรปราการว่า ไม่อาจคืนเงินดังกล่าวได้ พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมามีน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร “กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง” อันเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้น หลักสูตรนี้เป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ผู้ฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่าย ตามระเบียบดังกล่าวได้ ที่จำเลยต่อสู้และนำสืบว่า กรณีเป็นการขออนุมัติเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 หรือที่กำหนดไว้แล้วแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ตามข้อ 7 ของระเบียบนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็น เหมาะสม และประหยัด ภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับโดยยึดถือประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ปรากฏจากหลักฐานในสำนวนว่า ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นเรื่องที่อธิบดีกรมที่ดินอนุญาตให้จำเลยเข้ารับการอบรมนั้น มิได้มีข้อความใดที่ระบุว่า เป็นการขออนุญาตให้จำเลยเข้าอบรมหลักสูตรที่เป็นการนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ หรือที่กำหนดไว้แล้วแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบนี้ ประกอบกับนางสาวหทัยรัตน์ พยานจำเลยเองซึ่งเป็นผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบภายใน ซึ่งได้ทำบันทึกลงวันที่ 9 มีนาคม 2558 รายงานผลการตรวจสอบเนื่องจากพบว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายในการอบรมหลักสูตรดังกล่าวไม่ถูกต้อง และยังเสนอให้เรียกเงินคืนจากจำเลย โดยมิได้มีความเห็นว่า การเบิกค่าใช้จ่ายของจำเลยดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามระเบียบนี้ในข้อ 7 ที่ใช้บังคับขณะนั้น ฉะนั้น ที่จำเลยและนายรุทธิ์ นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยเบิกค่าใช้จ่ายการอบรมตามระเบียบนี้ในข้อ 7 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยต้องคืนเงินที่เบิกไปแก่โจทก์ตามฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาคือ คดีขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากจำเลย ซึ่งเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป. รับรอง รุ่นที่ 2 และรับเงินไปจากโจทก์แล้ว โดยไม่มีสิทธิ โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับหรือยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยไม่มีกำหนดอายุความ คดีจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีขาดอายุความเพราะเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ