คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7491/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุเกิดปี 2558 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับ ต่อมามีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” และคำว่า “บังคับใช้แรงงาน” และให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และให้ใช้ความตามมาตรา 6 ที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ และกฎหมายใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 ด้วย มีอัตราโทษสูงกว่า จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคแรก เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 โดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 และในส่วนที่พระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติเพิ่มความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการและบทกำหนดโทษตามมาตรา 6/1 และมาตรา 52/1 ขึ้นใหม่ เมื่อขณะกระทำความผิดไม่มีกฎหมายบัญญัติความผิดฐานดังกล่าวและกำหนดโทษไว้ จึงใช้บทมาตราดังกล่าวบังคับแก่จำเลยคดีนี้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามฟ้องจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 และมาตรา 52 (เดิม)
องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ล็อกกุญแจห้องพักกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ไว้ในช่วงเวลากลางคืนแต่ให้ออกมาทำงานในตอนเช้าโดยมีเจตนาเพื่อมิให้ผู้เสียหายดังกล่าวหลบหนีโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบให้รับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอื่นใดอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายดังกล่าวเพื่อให้ทำงาน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ คงเป็นเพียงความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 อันเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องและมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
สำหรับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายดังกล่าวได้พยายามหลบหนีออกจากฟาร์มที่เกิดเหตุถึงสองครั้งแต่ไม่สามารถหนีไปได้โดยถูกพวกของจำเลยที่ 1 พากลับมาส่งที่ฟาร์ม จากนั้นผู้เสียหายได้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกาย พูดข่มขู่ไม่ให้หลบหนี และถูกกักขังบังคับให้ทำงานอยู่ในฟาร์ม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ไม่ต้องการทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป การจับตัวผู้เสียหายดังกล่าวไว้เมื่อหลบหนีและเอาตัวกลับมาทำงานที่ฟาร์มย่อมบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชัดแจ้งที่ต้องการบังคับใช้แรงงานของผู้เสียหายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม) และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดตาม ป.อ. มาตรา 310 ทวิ อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นบทหนัก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 10, 13, 35, 52 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 64 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4, 28, 44, 45, 48, 108, 144, 146, 148, 149 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 58, 83, 91, 295, 310 ทวิ, 312 ทวิ, 371, 391 พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 17, 53, 58 บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 706/2558 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 370,520 บาท ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 270,400 บาท ผู้เสียหายที่ 4 เป็นเงิน 85,400 บาท ผู้เสียหายที่ 5 เป็นเงิน 337,900 บาท ผู้เสียหายที่ 6 เป็นเงิน 370,520 บาท ผู้เสียหายที่ 7 เป็นเงิน 84,400 บาท ผู้เสียหายที่ 8 เป็นเงิน 270,480 บาท ผู้เสียหายที่ 9 เป็นเงิน 176,400 บาท ผู้เสียหายที่ 10 เป็นเงิน 84,400 บาท ผู้เสียหายที่ 11 เป็นเงิน 184,400 บาท ผู้เสียหายที่ 12 เป็นเงิน 184,400 บาท และผู้เสียหายที่ 13 เป็นเงิน 176,400 บาท ริบอาวุธปืน 3 กระบอก ของกลาง
จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่ง, 13 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง, 108, 144 วรรคหนึ่ง, 146 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 310 ทวิ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 17, 53, 58 (ที่ถูก มาตรา 8, 17, 53, 58) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปและผู้กระทำเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ จำคุกกระทงละ 12 ปี รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 156 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ปรับ 20,000 บาท ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่ติดประกาศสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ปรับ 100,000 บาท ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 165 ปี 12 เดือน และปรับ 120,000 บาท แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี และปรับ 120,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง, 108, 144 วรรคหนึ่ง, 146 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ทวิ พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 17, 53, 58 (ที่ถูก มาตรา 8, 17, 53, 58) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 78 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ปรับ 20,000 บาท ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่ติดประกาศสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ปรับ 100,000 บาท ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 79 ปี 12 เดือน และปรับ 120,000 บาท แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี และปรับ 120,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 78 ปี ฐานร่วมกันช่วยเหลือคนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุม จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 52 ปี 8 เดือน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 78 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 87 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 706/2558 ของศาลชั้นต้น บวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 คดีนี้ รวมเป็นจำคุก 50 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 78 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 52 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 5 มีกำหนด 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 การกระทำของจำเลยที่ 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับกระทงละ 2,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ที่แก้ไขใหม่), 29/1, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก คืนอาวุธปืนของกลาง 3 กระบอก แก่เจ้าของ ให้ขังจำเลยที่ 6 สำหรับความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปไว้ระหว่างอุทธรณ์ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 63,800 บาท ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 70,200 บาท ผู้เสียหายที่ 4 เป็นเงิน 56,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 เป็นเงิน 56,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 เป็นเงิน 70,200 บาท ผู้เสียหายที่ 7 เป็นเงิน 56,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 เป็นเงิน 70,200 บาท ผู้เสียหายที่ 9 เป็นเงิน 53,200 บาท ผู้เสียหายที่ 10 เป็นเงิน 56,000 บาท ผู้เสียหายที่ 11 เป็นเงิน 56,000 บาท ผู้เสียหายที่ 12 เป็นเงิน 56,000 บาท และผู้เสียหายที่ 13 เป็นเงิน 53,200 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันเป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปรับคนละ 50,000 บาท ไม่ลงโทษจำคุก เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปรับคนละ 20,000 บาท แล้ว เป็นปรับคนละ 70,000 บาท ความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือคนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุม สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ลงโทษปรับกระทงละ 30,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 60,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปและผู้กระทำเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยฝ่าฝืนกฎหมาย และฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่ติดประกาศสัญลักษณ์เตือนอันตราย และเครื่องหมายเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ฐานมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 ในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ให้ยกคำขอบวกโทษจำเลยที่ 4 และให้ยกคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับจำเลยที่ 6 ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันช่วยเหลือคนต่างด้าวให้พ้นจากการจับกุม และสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงาน โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปและโดยจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ และต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 13 หรือไม่ คดีนี้เหตุเกิดปี 2558 อันเป็นเวลาขณะที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับ ต่อมามีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” และคำว่า “บังคับใช้แรงงาน” และให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และให้ใช้ความตามมาตรา 6 ที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ และกฎหมายใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 ด้วย มีอัตราโทษสูงกว่า จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก และต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้ใช้ความตามมาตรา 6 ที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังคงเป็นความผิดอยู่ และคงกำหนดโทษตามมาตรา 52 ที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดอีกเช่นกัน จึงต้องบังคับตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก ส่วนที่พระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติเพิ่มมาตรา 6/1 กำหนดความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการขึ้นใหม่ และเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 52/1 เป็นบทกำหนดโทษของความผิดฐานดังกล่าว แต่ขณะกระทำความผิดไม่มีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบัญญัติความผิดฐานบังคับใช้แรงงานและกำหนดโทษไว้ จึงใช้มาตรา 6/1 และมาตรา 52/1 บังคับแก่จำเลยในคดีนี้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามฟ้องจึงคงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 และมาตรา 52 (เดิม)
ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 13 และให้ผู้เสียหายที่ 3 ถึงที่ 13 กระทำการใด หรือกระทำการดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามนิยามในมาตรา 4 (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 หรือไม่ โดยบทนิยามดังกล่าวบัญญัติว่า “การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี …การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และ “การบังคับใช้แรงงาน” หมายความว่า การข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ล็อกกุญแจห้องพักกักขังผู้เสียหายไว้ในช่วงเวลากลางคืนแต่ให้ออกมาทำงานในตอนเช้าโดยมีเจตนาเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 หลบหนี กรณีมิใช่เป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้ผู้เสียหายดังกล่าวกระทำการใดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือผู้อื่น ทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบให้รับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำการอื่นใดอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 เพื่อให้ทำงาน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ คงเป็นเพียงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 อันเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดตามฟ้องและมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดที่พิจารณาได้ความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาเดียวเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายทั้งหมดเหล่านั้นหลบหนี จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
สำหรับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 นั้น ผู้เสียหายที่ 3 เบิกความว่า ระหว่างการทำงานจำเลยที่ 1 เคยทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 โดยใช้เข่าตีที่ท้อง ใช้ศอกตีที่กกหูและใช้มือตีที่ศีรษะ และผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 เบิกความสอดคล้องกันว่า ไม่อยากทำงานที่ฟาร์มที่เกิดเหตุต่อไปจึงชักชวนกันหนีและได้หนีออกจากฟาร์มที่เกิดเหตุถึงสองครั้งแต่ไม่สามารถหนีไปได้ โดยถูกพวกของจำเลยพากลับมาส่งที่ฟาร์มที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นได้ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกลงโทษโดยการทำร้ายร่างกาย พูดข่มขู่ไม่ให้หลบหนี และถูกกักขังบังคับให้ทำงานอยู่ในฟาร์มที่เกิดเหตุเช่นเดิม จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปช่วยเหลือ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ไม่ต้องการจะทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป ประกอบกับมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายและข่มขู่ผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ภายหลังจับตัวได้เมื่อหลบหนี จากนั้นก็เอาตัวกลับมาทำงานที่ฟาร์มที่เกิดเหตุ ย่อมบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชัดแจ้งที่ต้องการบังคับใช้แรงงานของผู้เสียหายดังกล่าวนั่นเอง ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า การกักขังหน่วงเหนี่ยวและการติดตามจับตัวผู้เสียหายที่หลบหนีกลับมาและทำร้ายร่างกายมีเจตนาเพียงเพื่อมิให้หลบหนีเพราะอาจนำความผิดมาสู่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ หรือเพราะว่ากล่าวห้ามหลบหนีแล้วยังฝ่าฝืนทำให้เกิดโทสะ นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดโดยจ้างแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย จึงไม่อาจยกเหตุว่าต้องกระทำความผิดเช่นนั้นเพื่อมิให้ผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมซึ่งจะเป็นเหตุให้ความผิดมาถึงตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขึ้นเป็นข้ออ้างได้ ส่วนข้ออ้างที่ว่า เงินเดือนของผู้เสียหายเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงาน เงินที่เบิกล่วงหน้า ค่าของกินที่ซื้อและค่าของใช้ส่วนตัวแล้วอาจเหลือไม่พอจ่ายค่าจ้างนั้น ก็ไม่มีมูลให้อ้าง เพราะปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกจับกุม มีเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค้างจ่ายแก่ผู้เสียหายทุกคนอยู่ และที่อ้างว่าให้อิสระแก่ผู้เสียหายที่จะเดินทางกลับบ้านที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้หากต้องการ ก็เป็นเพียงคำพูดที่ขัดแย้งต่อข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติต่อผู้เสียหายตามที่ได้ความในการพิจารณา หรือที่อ้างอีกว่าได้ให้อิสระแก่ผู้เสียหายที่จะโทรศัพท์ติดต่อญาติที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้นก็ขัดต่อข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายทุกคนไว้ตั้งแต่เดินทางมาถึงฟาร์มที่เกิดเหตุ ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 จึงเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ทวิ อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 เพราะกระทำในคราวเดียวกัน ต้องลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับจำเลยที่ 1 ขณะกระทำความผิดเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานดังกล่าวตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 13 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานสำหรับผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 และข้อหาหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาโดยยังไม่ได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม), 13 วรรคหนึ่ง (เดิม), 52 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 310, 310 ทวิ, 391 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม), 52 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310, 310 ทวิ ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันค้ามนุษย์และผู้กระทำเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 และให้ผู้นั้นกระทำการใดให้ และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก 1 เดือน ไม่ลงโทษปรับ เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 8 ปี 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันค้ามนุษย์และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 และให้ผู้นั้นกระทำการใดให้ และฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันเป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวง จำคุก 1 เดือน ไม่ลงโทษปรับ เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานร่วมกันเป็นนายจ้างไม่จัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 4 ปี 1 เดือน และปรับ 20,000 บาท ลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม จำคุก 6 เดือน ไม่ลงโทษปรับ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย จำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 12 เดือน ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 18 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 706/2558 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุก 24 เดือน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 70,200 บาท ผู้เสียหายที่ 6 เป็นเงิน 70,200 บาทผู้เสียหายที่ 8 เป็นเงิน 70,200 บาท และผู้เสียหายที่ 12 เป็นเงิน 56,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share