แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สามีภริยาก่อนใช้บรรพ 5 พ.ศ.2477 ภริยาแยกไปอยู่ต่างหากจากสามี ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกันอีกเลยจนสามีตาย กำหนดเวลาทิ้งกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียในขณะนั้นอย่างมากเพียง 1 ปี 4 เดือน จึงถือเป็นการร้างกันแล้ว ทรัพย์สินที่เกิดในระหว่างร้างไม่เป็นสินสมรส สามีตายภริยาร้าง ไม่มีส่วนแบ่งสินสมรส
ย่อยาว
จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ต. ไม่แบ่งทรัพย์ของ ต. ให้โจทก์ ซึ่งเคยเป็นภริยา ต. ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องที่โจทก์ขอแบ่งทรัพย์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาข้อแรกที่โจทก์ฎีกาว่าคำให้การของจำเลยไม่แน่นอน คดีไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์ทิ้งร้างจากนายตอไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ศาลล่างยกปัญหาข้อนี้ขึ้นมาวินิจฉัยก็เพราะคดีมีประเด็นเรื่องทรัพย์ตามฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่อยู่ด้วย คือประเด็นที่ได้กำหนดไว้ ข้อ 5ตามกฎหมายเก่าก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ถือว่าทรัพย์สินที่ฝ่ายใดหาได้มาระหว่างทิ้งร้างกันไม่ใช่สินสมรส สินสมรสจะมีขึ้นได้แต่ในระหว่างที่สามีภรรยายังดีกันอยู่มิได้ร้างกันไป และตามกฎหมายเก่าไม่มีบัญญัติไว้ดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462และ 1466 วรรคสอง ฉะนั้นถ้าหากคดีปรากฏตามทางพิจารณาว่าโจทก์กับนายตอทิ้งร้างกัน ข้อเท็จจริงข้อนี้ศาลก็ย่อมจะต้องนำหลักกฎหมายเก่ามาปรับแก่ปัญหาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ หาเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีที่พิพาทกันดังที่โจทก์อ้างไม่
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ได้ทิ้งร้างนายตอไปหรือไม่นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามคำพิพากษาของศาลล่างโดยมิได้มีฝ่ายใดโต้แย้งว่า หลังจากโจทก์คลอดบุตรแล้ว โจทก์ได้พาบุตรแยกไปอยู่กับบิดามารดาโจทก์ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อราวพ.ศ. 2472 แล้วต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านเดิมจังหวัดสมุทรปราการ โดยโจทก์ไม่เคยกลับไปอยู่กับนายตออีกเลย ตั้งแต่โจทก์แยกไปแล้วโจทก์ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องช่วยนายตอทำการค้าตลอดมาจนกระทั่งนายตอถึงแก่กรรม กฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ใน ขณะที่โจทก์ทิ้งไปจากนายตอนั้น มีบัญญัติไว้เกี่ยวกับกำหนดเวลาของการที่คู่สมรสได้แยกทิ้งกันไปมีกำหนดอย่างนานที่สุดเพียง 1 ปี กับ 4 เดือน เท่านั้น ก็ให้ถือว่าเป็นการทิ้งร้างกันแล้ว ฉะนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีว่า โจทก์กับนายตอได้ทิ้งร้างกันแล้ว ทรัพย์สินที่พิพาทจึงไม่ใช่สินสมรสที่โจทก์จะมีสิทธิขอแบ่งได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน