คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1185/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน ให้รับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้อง ตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2 ก็มิได้ปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ค้ำประกัน คงปฏิเสธเพียงว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้คืนโจทก์แล้วบางส่วน จำเลยที่ 2 ขอรับผิดเฉพาะส่วนที่ยังค้างอยู่เท่านั้น วันนัดคู่ความมาพร้อมกัน เมื่อคู่ความตกลงกันได้ และศาลชั้นต้น ทำ สัญญาประนีประนอมยอมความให้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิด ใช้ เงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ก็ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ด้วย ดังเห็นได้จากที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อรับรู้ไว้ท้ายสัญญาดังกล่าว และรายงานกระบวนพิจารณาของศาล แม้ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความจะไม่ได้ระบุถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ แต่ตามพฤติการณ์คดีนี้ไม่มีข้อใดแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ติดใจให้จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันอีกต่อไป และรายงานกระบวนพิจารณาของศาลก็มิได้จดแจ้งไว้เช่นนั้น กรณีนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังที่ได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์แต่เดิม และที่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นคดีนี้ เมื่อโจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 1 ได้ไม่พอชำระหนี้ก็ชอบที่จะขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันในจำนวนหนี้ที่ยังขาดอยู่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้ใช้เงินที่กู้ยืมไป หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ก็ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระแทน

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์จริง และได้ใช้เงินที่กู้บางส่วน จำเลยที่ 2 ขอให้บังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ก่อน เมื่อไม่พอจึงเอาจากจำเลยที่ 2

ต่อมาโจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า

ข้อ 1. จำเลยที่ 1 ยอมชำระเงินให้โจทก์เป็นจำนวน 15,000 บาท ภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญานี้

ข้อ 2. ในระหว่าง 1 ปีนี้ จำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 200 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ตั้งแต่เดือนนี้ (กันยายน 2518) เป็นต้นไปเงินจำนวนที่ผ่อนไปแล้วนี้ โจทก์ยอมให้นำไปหักออกจากเงิน 15,000 บาท ได้ในการชำระงวดสุดท้าย

ข้อ 3. หากครบ 1 ปี จำเลยที่ 1 ยังชำระเงินไม่เสร็จ ยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีจากจำนวนเงินที่เหลือ

ข้อ 4. ค่าฤชาธรรมเนียมตกลงให้เป็นพับ

ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์เพียง 2,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระ โจทก์จึงบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาด แต่ไม่พอชำระหนี้ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้บังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่ปรากฏตามคำพิพากษาตามยอมว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดด้วย จึงให้ยกคำขอ

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันต่อโจทก์อยู่ พิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามคำขอของโจทก์ที่ให้บังคับคดีต่อจำเลยที่ 2 ต่อไป

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้รับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2 ก็มิได้ปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ค้ำประกันคงปฏิเสธเพียงว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้คืนโจทก์แล้วบางส่วน จำเลยที่ 2 ขอรับผิดเฉพาะส่วนที่ค้างอยู่เท่านั้น วันนัดคู่ความมาพร้อมกัน เมื่อคู่ความตกลงกันได้และศาลชั้นต้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ก็ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ด้วย ดังเห็นได้จากที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อรับรู้ไว้ท้ายสัญญาดังกล่าวและรายงานกระบวนพิจารณาของศาล แม้ข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความจะไม่ได้ระบุความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้ แต่ตามพฤติการณ์คดีนี้ไม่มีข้อใดแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ติดใจให้จำเลยที่ 2 ต้องผูกพันรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันอีกต่อไป และรายงานกระบวนพิจารณาของศาล ก็มิได้จดแจ้งไว้เช่นนั้น กรณีนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังที่ได้ทำสัญญาไว้กับโจทก์แต่เดิมและที่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดเป็นคดีนี้ เมื่อโจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 1 ได้ไม่พอชำระหนี้ ก็ชอบที่จะขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันในจำนวนหนี้ที่ยังขาดอยู่ได้

พิพากษายืน

Share