แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งหัวหน้า พนักงานรักษาความปลอดภัย แม้มีประกาศของจำเลยกำหนด ให้พนักงานทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดว่า ห้ามมิให้พนักงานทุกคนของจำเลยตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานและเลิกงาน แทนกันโดยเด็ดขาดก็ตาม แต่การที่โจทก์ตอกบัตรลงเวลา เลิกงานแทน ว.ก็ดีหรือที่โจทก์ให้ว.ตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ก็ดี เมื่อฟังไม่ได้ว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย อย่างไรเป็นพิเศษยิ่งกว่าการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หรือทำให้โจทก์ พ.หรือว. ได้รับผลประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติมกว่าปกติจากจำเลยนอกเหนือจากค่าจ้างที่บุคคลทั้งสามจะพึงได้รับตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือโจทก์มีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นอย่างใดดังนี้ การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่า โจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 18 พฤษภาคม 2533 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,250 บาท ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 10,833 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย2,083.33 บาท และค่าชดเชย 37,500 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยนำสืบฟังได้เพียงว่าโจทก์จงใจกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่การกระทำผิดดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับผลประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าจ้างตามปกติโดยมีเจตนาทุจริต ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรงและจำเลยไม่ได้ค้างค่าจ้างโจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 37,500 บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 18พฤษภาคม 2533 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,250 บาท ต่อมาโจทก์ตอกบัตรลงเวลาเลิกงานแทนนายวีรพงศ์ ตันเฮง และหลังจากนั้นโจทก์ให้นายวิทยาวุฒิ วรจักร ตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ตอกบัตรลงเวลาเลิกงานแทนนายวีรพงศ์ และที่โจทก์ให้นายวิทยาวุฒิตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า มีประกาศของจำเลย กำหนดให้พนักงานทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดว่า ห้ามมิให้พนักงานทุกคนของจำเลยตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานและเลิกงานแทนกันโดยเด็ดขาด แต่การที่โจทก์ตอกบัตรลงเวลาเลิกงานแทนนายวีรพงศ์ก็ดี หรือที่โจทก์ให้นายวิทยาวุฒิตอกบัตรลงเวลาเข้าทำงานแทนโจทก์ก็ดีจำเลยนำสืบรับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างไรเป็นพิเศษยิ่งกว่าการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหรือทำให้โจทก์ นายวีรพงศ์หรือนายวิทยาวุฒิได้รับผลประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติมกว่าปกติจากจำเลยนอกเหนือจากค่าจ้างที่บุคคลทั้งสามจะพึงได้รับตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือโจทก์มีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นอย่างใด ดังนี้ การกระทำของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง
พิพากษายืน