คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์ว่า ณ. เป็นผู้เชี่ยวชาญศาลและต่อมาได้ขอส่งรายงานของณ.ตามคำแถลงของณ.โดยจำเลยที่ 3 มิได้คัดค้านว่า ณ.มิใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญศาล จึงต้องถือว่า ณ. ได้ลงชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญไว้ในทะเบียนผู้เชี่ยวชาญของศาลแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียก ณ.ย่อมถือโดยปริยายว่า ณ.เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 แล้ว ศาลไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งแต่งตั้ง ณ. เป็นผู้เชี่ยวชาญซ้ำซ้อนอีก และการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะแต่งตั้งได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียกคู่ความมาตกลงให้กำหนดตัวผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา 129(1) ณ.เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้ง จึงมีสิทธิแสดงความเห็นเป็นหนังสือเมื่อเป็นที่พอใจของศาลและไม่มีคู่ความฝ่ายใดเรียกร้องให้ ณ.มาศาลเพื่ออธิบายด้วยวาจาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 130 ความเห็นเป็นหนังสือของณ.ย่อมรับฟังได้ จำเลยที่ 3 รับจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลการขุดเจาะลงเสาเข็มของจำเลยที่ 2 ซึ่งรับจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ว่า จะควบคุมให้มีวิธีการก่อสร้างที่ปลอดภัยและไม่มีมลภาวะแก่บริเวณก่อสร้างหรือบริเวณข้างเคียง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ขุดเจาะลงเสาเข็มเป็นเหตุให้ทาวน์เฮาส์ของโจทก์เสียหายโดยนอกเหนือการควบคุมของจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะควบคุมการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนควบคุมการใช้เครื่องมือเครื่องจักรให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปก็ตามแต่ความเสียหายของทาวน์เฮาส์ของโจทก์เกิดจากการขุดเจาะลงเสาเข็มที่จำเลยที่ 2 กระทำ โดยจำเลยที่ 3ควบคุม ย่อมแสดงว่ามาตรฐานทั่วไปที่จำเลยที่ 3 อ้างใช้ในการขุดเจาะลงเสาเข็มนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ขุดเจาะลงเสาเข็มเพื่อสร้างตึกสูง 42 ชั้น และห้องใต้ดิน 2 ชั้น ได้ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ควบคุมต้องใช้ความระมัดระวังในส่วนนี้แต่จำเลยที่ 3 ยังควบคุมให้ขุดเจาะลงเสาเข็มโดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ควบคุมให้มีวิธีการก่อสร้างที่ปลอดภัยถือได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทเลินเล่อแล้ว โดยโจทก์ไม่จำต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้ห้องครัวของโจทก์เสียหายตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2534 และโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าเสียหายในเวลาเดียวกันซึ่งนับถึงวันฟ้องพ้นกำหนดปีหนึ่งแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ยังคงดำเนินการขุดเจาะลงเสาเข็มซึ่งเป็นมูลเหตุของการทำละเมิดต่อไปจนถึงความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 นั้น ย่อมจะต้องเกิดเพิ่มขึ้นอีกในทรัพย์อันเดียวกันตรงส่วนที่ได้รับความเสียหายเดิมจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในช่วงแรก และส่วนที่เสียหายใหม่จากการกระทำละเมิดในช่วงหลังความเสียหายดังกล่าวนี้ย่อมไม่อาจแยกแยะได้ว่า ช่วงเวลาใดจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ เสียหายเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด เมื่อความเสียหายดังกล่าวเกี่ยวพันสืบเนื่องกันตลอดเวลาที่จำเลยที่ 2 ยังคงขุดเจาะลงเสาเข็มอยู่ เมื่อนับอายุความหนึ่งปีนับแต่วันสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ยังทำละเมิดอยู่คือวันที่ 21 มีนาคม 2535 เป็นวันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิด ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้ฟ้องคดี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ปัญหาว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิขอหักเงินส่วนที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงและเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249แต่ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 จะมีสิทธิหักหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่เป็นเรื่องขอหักกันในชั้นบังคับคดีต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 182910อาคารทาวน์เฮาส์เลขที่ 160/14 ปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่182910 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จ้างจำเลยที่ 2 ทำการขุดเจาะลงเสาเข็มเพื่อทำการก่อสร้างอาคารอาร์เอสทาวเวอร์ ว่าจ้างจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้าง การขุดเจาะลงเสาเข็มของจำเลยที่ 2 ประมาณปลายปี 2534 ถึงปลายเดือนมีนาคม2535 จำเลยที่ 2 ได้ทำการขุดเจาะลงเสาเข็มในที่ดินโฉนดเลขที่8752 และ 33493 ถึง 33497 เพื่อทำการก่อสร้างอาคารอาร์เอสทาวเวอร์ ตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมดูแลและเพื่อให้การขุดเจาะลงเสาเข็มเป็นไปตามแบบแปลนการก่อสร้างที่จำเลยที่ 1เป็นผู้กำหนดขึ้น ระหว่างที่จำเลยที่ 2 ขุดเจาะลงเสาเข็มดังกล่าว จำเลยที่ 3 ไม่ได้ควบคุมด้วยความระมัดระวังเท่าที่ควรเป็นเหตุให้ส่วนที่เป็นห้องครัวของอาคารทาวน์เฮาส์เลขที่160/14 ของโจทก์ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ทรุด และมีรอยแตกร้าวของอาคารอันเนื่องมาจากแรงสั่นสะเทือนในการขุดเจาะลงเสาเข็มของจำเลยที่ 2การทรุดตัวของอาคารของโจทก์ไม่สามารถทำการซ่อมแซมได้นอกจากจะทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่ทรุดแล้วก่อสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้อยู่ในสภาพเดิมซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 2เหมางานเสาเข็มเจาะ และว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ควบคุมงานจริงตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงาน การขุดเจาะลงเสาเข็มและการควบคุมงานเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 และที่ 3 การทำงานต่าง ๆจึงอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นทั้งจำเลยที่ 2 ยังได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 ที่จะรับผิดชอบต่ออุปัทวเหตุหรือภยันตรายที่เกิดจากการทำงานเองด้วยจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด โจทก์อาจซ่อมแซมการทรุดและรอยแตกร้าวของอาคารให้อยู่ในสภาพเดิมที่ดีและใช้งานได้ดีโดยเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคารอาร์เอสทาวเวอร์ของจำเลยที่ 1 ด้วยเสาเข็มเจาะตามมาตรฐานช่างที่ดีและด้วยความระมัดระวังซึ่งไม่ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ ความเสียหายของโจทก์เกิดจากสภาพอาคารทาวน์เฮาส์และซ่อมได้ไม่เกิน 20,000 บาท โดยไม่จำเป็นต้องรื้อถอนสร้างใหม่จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิด ภายหลังจำเลยที่ 2ทำการขุดเจาะลงเสาเข็มของอาคารแล้วก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้างส่วนอื่นของอาคารอาร์เอสทาวเวอร์โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างเสาเข็มเจาะของจำเลยที่ 2 ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 2 อย่างใกล้ชิดตามหลักวิชาการ การขุดเจาะลงเสาเข็มใช้ระบบไฮดรอลิกมิได้ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนจนเป็นเหตุให้อาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์เสียหาย รอยแตกร้าวที่อาคารโจทก์เป็นรอยแตกร้าวที่มีมาก่อนที่จำเลยที่ 1 เริ่มโครงการ โจทก์ทราบเหตุละเมิดตั้งแต่ปลายปี 2534 โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับแต่เกิดเหตุจึงขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ขอให้เรียกบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายต่อบุคคลภายนอกเนื่องจากการก่อสร้างอาคารอาร์เอสทาวเวอร์จริงอาคารทาวน์เฮาส์เลขที่ 160/14 ของโจทก์ได้เกิดความเสียหายเพียงเป็นรอยแตกร้าวของตัวอาคารจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างของอาคาร ไม่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิด และอาคารทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเสียหายไม่เกิน10,000 บาท และสามารถซ่อมแซมได้โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปีนับแต่วันที่พบความเสียหายและรู้ตัวผู้ทำความเสียหายจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน262,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 250,000 บาทในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดดังกล่าวข้างต้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมชดใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จ้างจำเลยที่ 2 ทำการขุดเจาะลงเสาเข็มเพื่อทำการก่อสร้างอาคารอาร์เอสทาวน์เวอร์ สูง 42 ชั้นและชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และได้จ้างจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมดูแลการขุดเจาะลงเสาเข็มของจำเลยที่ 2 มีจำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันความเสียหายในการขุดเจาะลงเสาเข็มต่อบุคคลภายนอกไว้จากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เริ่มทำการขุดเจาะลงเสาเข็มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534 แล้วเสร็จวันที่ 21 มีนาคม2535 ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเป็นเหตุให้อาคารทาวน์เฮาส์ของโจทก์ส่วนที่เป็นห้องครัวซึ่งโจทก์ก่อสร้างต่อเติมขึ้นประมาณปีพ.ศ. 2530 เสียหายมีรอยแตกร้าว พื้นทรุด ตามรายงานการเดินเผชิญสืบอาคารของโจทก์ของศาลชั้นต้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานนายณัฐ ศรีเฟื่องฟุ้ง ผู้เชี่ยวชาญศาลทางด้านวิศวกรรมโยธาแต่ไม่ติดใจสืบ คงส่งรายงานความเห็นของนายณัฐซึ่งได้รายงานประเมินค่าซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ส่วนที่เสียหาย จะต้องเสียค่าซ่อมแซม 8 รายการ เป็นเงิน 262,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่าโจทก์เสียหายเพียงใด แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบให้รับฟังได้ว่าโจทก์เสียหายตามจำนวนเงินที่ฟ้อง การที่ศาลล่างได้กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 262,000 บาท ตามที่นายณัฐได้รายงานไว้ในคำแถลงเอกสารหมาย จ.15 โดยพิจารณาประกอบกับความเสียหายของอาคารของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบไว้ ซึ่งมีความเสียหายใกล้เคียงกันนั้น ถือว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ในเมื่อจำเลยที่ 3 นำสืบลอย ๆ แต่เพียงว่าค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่านายณัฐหาใช่ผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 99 และมิได้เรียกคู่ความกำหนดตัวผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา 129 ดังนั้น นายณัฐหาได้รับสิทธิในการแสดงความเห็นเป็นหนังสือตามมาตรา 130ได้ไม่นั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยานโจทก์ว่านายณัฐเป็นผู้เชี่ยวชาญศาลและต่อมาได้ขอส่งรายงานของนายณัฐตามคำแถลงของนายณัฐเอกสารหมายจ.15 โดยจำเลยที่ 3 มิได้คัดค้านว่านายณัฐมิใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญศาล จึงต้องถือว่านายณัฐได้ลงชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญไว้ในทะเบียนผู้เชี่ยวชาญของศาลแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกนายณัฐตามสำเนาหมายเรียกพยานบุคคลลงวันที่18 เมษายน 2537 ย่อมถือโดยปริยายว่า นายณัฐเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งตามมาตรา 99 แล้ว ศาลไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งแต่งตั้งนายณัฐเป็นผู้เชี่ยวชาญซ้ำซ้อนอีก และการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะแต่งตั้งได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียกคู่ความมาให้ตกลงกันกำหนดตัวผู้เชี่ยวชาญตามมาตรา 129(1) นายณัฐเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศาลแต่งตั้งจึงมีสิทธิแสดงความเห็นเป็นหนังสือตามคำแถลงเอกสารหมาย จ.15 เมื่อเป็นที่พอใจของศาลและไม่มีคู่ความฝ่ายใดเรียกร้องให้นายณัฐมาศาลเพื่ออธิบายด้วยวาจาตามมาตรา 130 ความเห็นเป็นหนังสือของนายณัฐตามคำแถลงเอกสารหมาย จ.15 ย่อมรับฟังได้
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมด้วยหรือไม่จำเลยที่ 3 รับจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมดูแลการขุดเจาะลงเสาเข็มของจำเลยที่ 2 ซึ่งรับจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3ได้ตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ว่า ควบคุมให้มีวิธีการก่อสร้างที่ปลอดภัยและไม่มีมลภาวะแก่บริเวณก่อสร้างหรือบริเวณข้างเคียงเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ขุดเจาะลงเสาเข็มเป็นเหตุให้ทาวน์เฮาส์ของโจทก์เสียหายโดยนอกเหนือการควบคุมของจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะควบคุมการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตลอดจนควบคุมการใช้เครื่องมือเครื่องจักรให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปก็ตามแต่ความเสียหายของทาวน์เฮาส์ของโจทก์เกิดจากการขุดเจาะลงเสาเข็มที่จำเลยที่ 2 กระทำโดยจำเลยที่ 3 ควบคุมดังกล่าวนั้นย่อมแสดงว่ามาตรฐานทั่วไปที่จำเลยที่ 3 อ้างใช้ในการขุดเจาะลงเสาเข็มนั้น ไม่สามารถนำมาใช้ขุดเจาะลงเสาเข็มเพื่อสร้างตึกสูง 42 ชั้น และห้องใต้ดิน 2 ชั้น ได้ซึ่งจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ควบคุมย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในส่วนนี้ แต่จำเลยที่ 3ยังควบคุมให้ขุดเจาะลงเสาเข็มโดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้ควบคุมให้มีวิธีการก่อสร้างที่ปลอดภัย ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทเลินเล่อแล้ว โจทก์ไม่จำต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดร่วมด้วย
ปัญหาต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แม้จะได้ความว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้ห้องครัวของโจทก์เสียหายตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2534 และโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าเสียหายในเวลาเดียวกันซึ่งนับถึงวันฟ้องวันที่ 19 มีนาคม 2536 พ้นกำหนดปีหนึ่งก็ตามแต่จำเลยที่ 2 ยังคงดำเนินการขุดเจาะลงเสาเข็มซึ่งเป็นมูลเหตุของการทำละเมิดต่อไปจนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2535 ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 นั้น ย่อมจะต้องเกิดเพิ่มขึ้นอีก ในทรัพย์อันเดียวกันตรงส่วนที่ได้รับความเสียหายเดิมจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในช่วงแรกและส่วนที่เสียหายใหม่จากการกระทำละเมิดในช่วงหลัง ความเสียหายดังกล่าวนี้ย่อมไม่อาจแยกแยะได้ว่า ช่วงเวลาใดจำเลยที่ 2ทำละเมิดต่อโจทก์ เสียหายเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด เนื่องจากความเสียหายเกี่ยวพันสืบเนื่องกันตลอดเวลาที่จำเลยที่ 2ยังคงขุดเจาะลงเสาเข็มอยู่ โดยจะเห็นได้จากร่องรอยความเสียหายจำนวน 6 จุด ตามภาพถ่ายตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6ซึ่งจำเลยอ้างว่าถ่ายในเดือนธันวาคม 2534 แม้จะตรงกับภาพถ่ายของโจทก์ก็ตาม แต่จากการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 มีร่องรอยความเสียหายมากกว่า 6 จุดและจะต้องทำการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายดังกล่าวนั้นพร้อมกับส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกันในเวลาเดียวกันรวม 8 รายการ ตามคำแถลงของนายณัฐ เอกสารหมาย จ.15ดังนั้น ที่ศาลล่างให้นับอายุความหนึ่งปีนับแต่วันสุดท้ายที่จำเลยที่ 2 ยังทำละเมิดอยู่คือวันที่ 21 มีนาคม 2535 เป็นวันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้ฟ้องคดีถูกต้องแล้ว
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 3 มีสิทธิขอหักเงินส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หลังจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิหักหนี้ดังกล่าว ก็เป็นเรื่องขอหักกันในชั้นบังคับคดีมิใช่ในชั้นนี้
พิพากษายืน

Share