แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดตามฟ้อง ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ด. เพื่อนจำเลยเป็นคนยัดเฮโรอีนของกลางใส่กระเป๋าจำเลย จากนั้นจำเลยเดินมาก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมของกลาง จำเลยกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีก่อนศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คดีถึงที่สุดดังนี้ จำเลยย่อมยังไม่ได้รับโทษจำคุก จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเอาเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษจำเลยได้
การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทเพิ่มโทษจำเลยมาโดยไม่ชอบ แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 เป็นให้ยกคำขอให้เพิ่มโทษจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ริบของกลางและเพิ่มโทษจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 2 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก9 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเคยกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมาก่อน และมากระทำความผิดคดีนี้ซ้ำอีก แสดงว่าจำเลยไม่เข็ดหลาบและรู้สำนึกที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ทั้งโทษที่ศาลอุทธรณ์วางแก่จำเลยนั้นเป็นโทษขั้นต่ำตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นชอบแล้ว และที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า นายดำเพื่อนจำเลยเป็นคนยัดเฮโรอีนของกลางใส่กระเป๋าจำเลยจากนั้นจำเลยเดินมาก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมของกลาง จำเลยกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 699/2540 ของศาลชั้นต้นนั้นได้ความว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คดีถึงที่สุด เห็นว่า เมื่อคดีก่อนจำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกจึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเอาเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษจำเลยได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยพ้นโทษแล้วภายใน 5 ปี มากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดอีก จะเพิ่มโทษจำเลยตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทเพิ่มโทษจำเลยมานั้น จึงไม่ชอบแม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน ยกคำขอให้เพิ่มโทษนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์