แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปทำงานพักอยู่ที่บ้านนาง น.ที่กรุงเทพมหานครต่อมาผู้เสียหายเดินทางกลับบ้านบิดามารดาที่จังหวัดตราดเพื่อเที่ยวสงกรานต์ระหว่างนั้นบิดามารดาผู้เสียหายได้อนุญาตให้ผู้เสียหายไปส่งพี่สาวที่สถานีขนส่งจังหวัดตราดแล้วจำเลยพาผู้เสียหายไป ดังนี้ถือว่าระหว่างที่ผู้เสียหายทำงานพักอยู่บ้านนาง น.ที่กรุงเทพมหานคร ผู้เสียหายย่อมอยู่ในความคุ้มครองของนางน. เมื่อผู้เสียหายเดินทางมาบ้านบิดามารดาที่จังหวัดตราด ผู้เสียหายย่อมอยู่ในความปกครองของบิดามารดาการที่บิดามารดาอนุญาตให้ผู้เสียหายไปส่งพี่สาวที่สถานีขนส่งจังหวัดตราดนั้นไม่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายพ้นจากความปกครองของบิดามารดาเมื่อจำเลยพาผู้เสียหายไปจึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปจากบิดามารดา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 บัญญัติขึ้นโดย ตระหนักว่าผู้เยาว์อายุไม่เกิน 18 ปี ยังขาดความสำนึก ต่อเล่ห์กลของทุจริตชนอาจถูกชักจูงให้หลงเชื่อโดยง่าย สภาพที่บิดามารดาของผู้เสียหายพยายามติดตามเรื่องบุตรหายไปแสดงว่าผู้เสียหายมิได้มีความประพฤติสำส่อนจนบิดามารดาหมดความห่วงใย การที่จำเลยทั้งสองพรากผู้เสียหายไปได้ก่อความทุกข์ใจใหญ่หลวงแก่บิดามารดาผู้เสียหายพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีเหตุผลที่จะรอการลงโทษให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 276 วรรคสอง,310, 318, 318 วรรคสาม
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก,83 จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไว้ 2 ปี คุมความประพฤติโดยให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อจ่าศาลทุก 3 เดือน ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 2 ผู้ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษไม่คุมความประพฤติและไม่ลงโทษปรับจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธน่าสงสัยและรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองมิได้กระทำความผิดดังกล่าวแต่อย่างใด คงมีแต่โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวฎีกาของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การที่จำเลยทั้งสองพานางสาวก. ผู้เสียหายไปหลังจากเลิกเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันแล้วเป็นการพรากผู้เยาว์ไปจากบิดามารดาอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ผู้เสียหายไม่ได้พักอยู่กับบิดามารดา แต่ไปทำมาหากินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ที่บ้านของนางนงลักษณ์ รู้ตระกูล ผู้เสียหายกลับมาเที่ยวสงกรานต์ที่บ้านจังหวัดตราด ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายจึงไม่ได้อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา นอกจากนี้ในวันเกิดเหตุบิดามารดาได้อนุญาตให้ผู้เสียหายไปส่งพี่สาวที่สถานีขนส่งจังหวัดตราดเพื่อขึ้นรถกลับกรุงเทพมหานครหลังจากนั้นผู้เสียหายไปเล่นน้ำสงกรานต์กับเพื่อนแล้วจึงพบและขึ้นรถจำเลยทั้งสองไปเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยกัน ขณะผู้เสียหายพบจำเลยทั้งสองผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดาเพราะผู้เสียหายได้รับอนุญาตจากบิดามารดาให้ไปส่งพี่สาวและไปเที่ยวเล่นสงกรานต์ปัญหานี้แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองจึงยกขึ้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225เห็นว่า การพรากผู้เยาว์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก คือ การพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ระหว่างที่ผู้เสียหายทำงานพักอยู่บ้านนางนงลักษณ์ที่กรุงเทพมหานคร ผู้เสียหายย่อมอยู่ในความคุ้มครองของนางนงลักษณ์เมื่อผู้เสียหายเดินทางมาบ้านบิดามารดาที่จังหวัดตราดผู้เสียหายย่อมอยู่ในความปกครองของบิดามารดาและการที่บิดามารดาอนุญาตให้ผู้เสียหายไปส่งพี่สาวที่สถานีขนส่งจังหวัดตราดนั้นไม่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายพ้นจากความปกครองของบิดามารดาการที่จำเลยทั้งสองพาผู้เสียหายไปจึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปจากบิดามารดา ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 บัญญัติขึ้นโดยตระหนักว่าผู้เยาว์อายุไม่เกิน 18 ปี ยังขาดความสำนึกต่อเล่ห์กลของทุจริตชนอาจถูกชักจูงให้หลงเชื่อโดยง่าย สภาพที่บิดามารดาของผู้เสียหายพยายามติดตามเรื่องบุตรหายไป แสดงว่าผู้เสียหายมิได้มีความประพฤติสำส่อนจนบิดามารดาหมดความห่วงใย การที่จำเลยทั้งสองพรากผู้เสียหายไปได้ก่อความทุกข์ใจใหญ่หลวงแก่บิดามารดาผู้เสียหายพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีเหตุผลที่จะรอการลงโทษฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน