แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่งเจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักรนั้น หมายถึงเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างประเทศโดยถือเอาสถานที่อยู่ตามความเป็นจริงของเจ้าหนี้ในช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศโฆษณาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นสำคัญ ไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาตามกฎหมายของเจ้าหนี้ดังกล่าวว่าอยู่ ณ ที่ใด ดังนี้ เมื่อในช่วงระยะเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องอยู่ในราชอาณาจักร แม้ขณะนั้นผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรและได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ตาม กรณีก็ต้องถือว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักรตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้ผู้ร้องได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลย(ลูกหนี้) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2537 ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักรเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่าในช่วงระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องอยู่ในราชอาณาจักร จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นเงินจำนวน 5,280,000 บาท และได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 ซึ่งเกินกำหนดสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาเนื่องจากผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักรโดยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จึงได้ยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ออกไปอีกไม่เกินสองเดือน แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยกคำร้องและไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง ผู้ร้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว ไม่ทราบว่ามีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด เพราะผู้ร้องฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยไม่ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2538 ผู้ร้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร จึงทราบจากทนายความของผู้ร้องว่าศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาด ผู้ร้องไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอให้กลับคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และมีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อปี พ.ศ. 2537ผู้ร้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในวันที่ 15 ตุลาคม 2537และมีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2537แต่ได้เดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537ซึ่งหมายความว่าในวันที่โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2537) ผู้ร้องยังคงอยู่ในราชอาณาจักร บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 91 มีเจตนารมณ์ให้เจ้าหนี้ซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่าเจ้าหนี้จะเป็นคนไทยหรือชาวต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรหรือไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติรับฟังได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่26 สิงหาคม 2537 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งดังกล่าวในหนังสือพิมพ์รายวันดาวสยาม ฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2537และในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไปลงวันที่ 1 พฤศจิกายน2537 พร้อมทั้งแจ้งให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นซึ่งครบกำหนดในวันที่ 2 มกราคม 2538ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสและเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นเงินจำนวน 5,280,000 บาทเมื่อระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2537ผู้ร้องอยู่ในประเทศไทย และยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไม่ขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้ผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 91 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักรเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักรนั้น หมายถึงเจ้าหนี้ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างประเทศโดยถือเอาสถานที่อยู่ตามความจริงของเจ้าหนี้ในช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศโฆษณาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นสำคัญ ไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาตามกฎหมายของเจ้าหนี้ดังกล่าวว่าอยู่ ณ ที่ใด ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในช่วงระยะเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศโฆษณาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ร้องอยู่ในราชอาณาจักร แม้ผู้ร้องจะมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรและเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ตาม กรณีก็ต้องถือว่าผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักรตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้ผู้ร้องได้คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน