คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยต่างก็ผลิตสินค้าสร้อยข้อมือโดยเลียนแบบจากของต่างประเทศออกจำหน่าย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการผลิตสร้อยข้อมือแบบดังกล่าว จำเลยก็ไม่มีสิทธิห้ามมิให้โจทก์ผลิตสินค้าสร้อยข้อมือเลียนแบบสินค้าของจำเลย
จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสร้อยข้อมือของจำเลยไว้ ใช้ว่าฮกลกซิ่วคัง อันมีลักษณะเป็นเครื่องหมายคำ 4 คำรวมกัน แปลว่า มีวาสนาศรีสุข อายุยืน มีพลานามัยดี ซึ่งการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวระบุไว้ด้วยว่า ไม่ให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนคำว่า ฮกลกซิ่ว แยกแต่ลำพัง ส่วนสร้อยข้อมือของโจทก์ปรากฏว่า เครื่องหมายคำทั้ง 4 คำดังกล่าวไม่ได้อยู่รวมกัน หากแต่แยกออกจากกันเป็นคำๆ คำละหนึ่งข้อสร้อย แต่ละคำปรากฏในข้อสร้อยนี้อยู่สลับกับข้อสร้อยที่มีลวดลายเป็นรูปดอกไม้ ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำละเมิดเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ ๖ ปีมาแล้ว โจทก์ได้ประดิษฐ์สร้อยข้อมือสร้อยคอ และเครื่องประดับออกจำหน่าย โดยบรรจุอักษรจีน ๔ ตัว อ่านว่า ฮก ลก ซิ่ว คัง เป็นคำอวยพรให้ผู้ใช้มีความสุข ความเจริญ มีอายุ วรรณะ สุข พละ นอกจากโจทก์แล้วยังมีผู้อื่นอีกที่ใช้อักษรจีน ๔ ตัวนี้กับสินค้าอื่นรวมทั้งเครื่องประดับด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จำเลยได้นำอักษรจีนทั้ง ๔ ตัวนี้ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กระทรวงพาณิชย์ และกองสิทธิบัตรฯรับจดทะเบียนให้จำเลยแล้ว จำเลยมีหนังสือห้ามมิให้โจทก์และพ่อค้าอื่นผลิตหรือนำเครื่องประดับที่มีอักษรจีนทั้ง ๔ ตัวดังกล่าวออกจำหน่าย อักษรจีน ๔ ตัวนี้เป็นคำอวยพรที่คนจีนทั่วไปใช้อวยพรแก่กัน การที่จำเลยนำอักษรจีนทั้ง ๔ ตัวไปจดทะเบียนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ผู้ผลิตสินค้าพวกนี้ไว้เป็นจำนวนมากไม่สามารถจะขายได้ ขอให้ศาลพิพากษาว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการไม่ชอบ ให้จำเลยไปเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวหากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ จำเลยเป็นผู้ผลิตสร้อยข้อมือแปดข้อ มีความหมายเป็นสี่ฤดู มีอักษรจีนเป็นสัญลักษณ์ประกอบอ่านว่า ฮก ลก ซิ่ว คัง แต่ละคำอวยพรอยู่ระหว่างข้อละคำสลับกับรูปต้นเก๊กฮวย รูปรวงข้าว รูปดอกบัว และรูปต้นไผ่ รูปละข้อ ผลิตด้วยทองคำและเงินออกจำหน่ายก่อนผู้ใดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ จำเลยสืบทราบว่า โจทก์และผู้อื่นผลิตสร้อยข้อมือเลียนแบบของจำเลยออกจำหน่าย ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๖ จำเลยจึงไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเฉพาะอักษรจีนทั้ง ๔ คำดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้รวมกันทั้ง ๔ คำ จะไม่ใช้แยกคำ โจทก์เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยและเป็นการเอารูปรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าาของจำเลยมาใช้กับสินค้าของโจทก์ จำเลยบอกให้โจทก์หยุด โจทก์ไม่ยอมหยุด เป็นเหตุให้จำเลยขาดกำไรเดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๓ เดือน เป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์เลิกใช้เครื่องหมายดังกล่าว ให้โจทก์เลิกผลิตและงดการจำหน่ายสินค้าสร้อยข้อมือดังกล่าว ให้โจทก์จัดการเก็บสินค้าของโจทก์ในท้องตลาดให้หมด ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง ๓๐๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เครื่องประดับตามรูปตามลักษณะที่จำเลยกล่าวมีผู้ผลิตจำหน่ายมาช้านานแล้ว อักษรจีน ๔ คำ ฮก ลก ซิ่ว คัง เป็นคำสามัญที่ใช้กันทั่วไปไม่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้า โจทก์มิได้เลียนแบบหรือเอารูปรอยประดิษฐ์ของจำเลยมาใช้เพราะไม่เหมือนกันจนทำให้ประชาชนหลงผิด จำเลยไม่ได้ขาดกำไรตามฟ้องแย้ง เมื่อจำเลยแจ้งให้โจทก์ระงับการผลิต โจทก์ก็ระงับแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยมิใช่เป็นผู้ค้นคิดประดิษฐ์รูปเครื่องหมายอักษรจีนรายพิพาท หากแต่ลอกเลียนแบบจากต่างประเทศ จึงไม่มีสิทธิจะหวงห้ามมิให้คนอื่นใช้ แต่ต่อมาเมื่อจำเลยเป็นผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้านี้ โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามหรือขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนของจำเลย เมื่อ จำเลยแจ้งการจดทะเบียนให้โจทก์ทราบ โจทก์ก็หยุดการผลิต ไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการชอบด้วยกฎหมาย สร้อยข้อมือที่โจทก์ผลิตออกเป็นตัวสินค้าที่จำหน่ายไม่ใช่เครื่องหมายการค้าของจำเลย เพราะไม่มีตราเลียนแบบเป็นตัวอักษรจีน ๔ คำ ติดกันเรียงลำดับจากบนลงล่างตามที่จำเลยจดทะเบียน ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำละเมิดเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิจะห้ามไม่ให้โจทก์ผลิตสินค้าสร้อยข้อมือเลียนแบบสินค้าของจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างก็ผลิตสินค้าสร้อยข้อมือโดยเลียนแบบจากของต่างประเทศออกจำหน่าย กล่าวคือลักษณะของสร้อยทำเป็นข้อๆแยกจากกันรวม ๘ ข้อ แต่มีห่วงหรือสลักเชื่อมเป็นสร้อยเส้นเดียวกัน ข้อแรกมีอักษรจีน ๑ คำ ข้อที่ ๒ มีรูปดอกไม้ ข้อที่มีอักษรจีนกับข้อที่มีรูปดอกไม้อยู่สลับกันไปอย่างนี้รวม ๘ ข้อ แม้จำเลยจะอ้างว่าสร้อยข้อมือของต่างประเทศมีอักษรจีนว่า ฮกลกซิ่วซ้วง โดยเฉพาะคำที่ ๔ นั้น จำเลยได้เปลี่ยนคำว่า “ซ้วง” เป็น “คัง” ไม่ได้เลียนตัวอักษรมาทุกคำก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความชัดว่าลักษณะหรือแบบของสร้อยข้อมือคงเหมือนของต่างประเทศทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการผลิตสร้อยข้อมือดังกล่าว ฉะนั้นจำเลยจึงไม่มีสิทธิห้ามมิให้โจทก์ผลิตสินค้าสร้อยข้อมือเลียนแบบสินค้าของจำเลย
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์นำเครื่องหมายการค้าที่เขียนเป็นภาษาจีนว่า ฮกลกซิ่วคัง ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยไปใช้กับสินค้าของโจทก์เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเครื่องหมายการค้าสร้อยข้อมือของจำเลยที่จดทะเบียนไว้ ใช้ว่า ฮกลกซิ่วคัง อันมีลักษณะเป็นเครื่องหมายคำ ๔ คำรวมกัน และแปลว่า มีวาสนาศรีสุขอายุยืนมีพลานามัยดี ซึ่งการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนี้ระบุไว้ด้วยว่าไม่ให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรจีนคำว่า ฮกลกซิ่ว แยกแต่ลำพัง ดังปรากฏในบันทึกหลังเอกสารหมาย ล.๕ ส่วนสร้อยข้อมือของโจทก์ปรากฏว่าเครื่องหมายคำทั้ง ๔ คำดังกล่าวไม่ได้อยู่รวมกัน หากแต่แยกออกจากกันเป็นคำๆ คำละ ๑ ข้อสร้อย และแต่ละคำที่ปรากฏในข้อสร้อยนี้อยู่สลับกับข้อสร้อยที่มีลวดลายเป็นรูปดอกไม้ (ดูภาพเอกสารหมาย จ.๒ ประกอบ) ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำละเมิดเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามฟ้องแย้งฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share