คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2903/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ได้กำหนดให้เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีใดเป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปีนั้นตามอัตราของราคาปานกลางของที่ดินที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกด้วยตนเองแล้วให้เสียภาษีอย่างสูงไม่เกินไร่ละ 5 บาท มิใช่ให้ถือเอาผลของการใช้ที่ดินในปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นเกณฑ์คำนวณภาษีบำรุงท้องที่ ดังนั้น การเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในปีใด ก็ต้องถือเอาการใช้ที่ดินของเจ้าของที่ดินในปีนั้นเป็นเกณฑ์คำนวณภาษี
ที่ดินที่จำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ถือได้ว่าไม่มีการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินของโจทก์ จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการประเมินเสียได้โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินดังกล่าวหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปีพ.ศ. 2522 สำหรับที่ดินของโจทก์ในฐานะที่เป็นที่ดินว่างเปล่า โจทก์เห็นว่าการประเมินดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ใช้ที่ดินทำนาด้วยตนเอง และที่ดินแปลงโฉนดเลขที่28184 ที่จำเลยประเมินให้โจทก์ที่ 2 เสียภาษีไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ที่ 2 โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราเพียงไร่ละ 5 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งคำชี้ขาดยืนยันการประเมินว่าถูกต้องแล้ว จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2522 ของจำเลยแล้วสั่งให้โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ในฐานะเป็นที่นาและโจทก์ทำนาด้วยตนเอง และให้เพิกถอนคำชี้ขาดอุทธรณ์ด้วย

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินของโจทก์ถูกต้องแล้ว โจทก์มิได้ใช้ที่ดินเป็นที่ทำนา แต่ปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่า โจทก์ที่ 2 มิได้อุทธรณ์การประเมินจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่และคำชี้ขาดของจำเลย ให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีบำรุงท้องที่ในฐานะเจ้าของที่ดินใช้ที่ดินประกอบการกสิกรรมด้วยตนเอง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า การเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่นั้นจะต้องถือเอาผลของการใช้ที่ดินในปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักเกณฑ์การเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในปีที่เรียกเก็บนั้นศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 บัญญัติว่า”ให้ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 2 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปีนั้นจากราคาปานกลางของที่ดินตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัตินี้”และบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา 7 ได้กำหนดชั้นของราคาปานกลางของที่ดินไว้ว่าจะต้องเสียภาษีไร่ละเท่าใด และได้หมายเหตุไว้ในช่องหมายเหตุว่า “(1) ที่ดินที่ใช้ประกอบการกสิกรรมเฉพาะประเภทไม้ล้มลุกให้เสียกึ่งอัตรา แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกนั้นด้วยตนเอง ให้เสียอย่างสูงไม่เกินไร่ละ5 บาท” ดังนี้พึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ได้กำหนดให้เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ในวันที่ 1 มกราคมของปีใดก็ให้เป็นผู้เสียภาษีในปีนั้นตามอัตราของาคาปานกลางของที่ดินที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ตามมาตรา 7 แต่ถ้าเจ้าของที่ดินประกอบการกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกด้วยตนเองแล้วให้เสียภาษีอย่างสูงไม่เกินไร่ละ 5 บาท มิใช่ให้ถือเอาผลของการใช้ที่ดินในปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นเกณฑ์คำนวณเสียภาษีในปีที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ฉะนั้นในกรณีของโจทก์และจำเลยคดีนี้จึงเห็นว่า จำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในปีพ.ศ. 2522 จากโจทก์ทั้งสอง ก็ต้องถือเอาการใช้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของที่ดินในปี พ.ศ. 2522 เป็นเกณฑ์คำนวณภาษี จะเอาผลของการที่โจทก์ทั้งสองใช้ที่ดินของตนทำนาด้วยตนเองหรือไม่ในปี พ.ศ. 2521 มาเป็นเกณฑ์คำนวณเสียภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้ ที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่าบทบัญญัติของมาตรา 30 มาตรา 33และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 แสดงให้เห็นว่าการประเมินภาษีหรือเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานจะกระทำได้ต้องนำผลการใช้ที่ดินในปีที่ล่วงมาแล้วมาคิดคำนวณการเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่นั้นไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 30 บัญญัติถึงกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการที่ดินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ของเจ้าของที่ดิน มาตรา 33 บัญญัติกำหนดหน้าที่ให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีบำรุงท้องที่และแจ้งการประเมินภายในเดือนมีนาคมแรกหลังจากการตีราคาปานกลางของที่ดิน และวิธีการแจ้งการประเมิน ส่วนมาตรา 35 บัญญัติให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเดือนเมษายนของทุกปีหรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ทั้งสามมาตรานี้ไม่มีข้อความใดให้นำผลการใช้ที่ดินในปีที่ล่วงมาแล้วมาคิดคำนวณเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่เลย

ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ยังมิได้แจ้งการประเมินที่ดินโฉนดเลขที่ 45681 ไปยังโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 มิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ไว้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ได้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท้จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 3 ได้แจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินโฉนดเลขที่ 28184 เนื้อที่ 2 งาน 81 ตารางวา ไปให้โจทก์ที่ 2 ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ในปี พ.ศ. 2522 เป็นเงิน 1,053.75 บาท และเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่ารวมเป็นเงิน2,107.50 บาท แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 28184 นั้น โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน ที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นโฉนดเลขที่ 45681 เนื้อที่ 1 งาน 92 ตารางวา ฉะนั้น การประเมินภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยที่ 3 เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเกี่ยวกับที่ดินที่จะต้องประเมินถือได้ว่าไม่มีการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาท มิใช่เป็นการประเมินภาษีบำรุงท้องที่โดยตรงอันจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ของพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการประเมินนั้นเสียได้โดยมิพักต้องคำนึงว่าโจทก์ที่ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินดังกล่าวนั้นหรือไม่

พิพากษายืน

Share