คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 150,393,070.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ของต้นเงิน 141,499,900.15 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 141,499,900.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 14,000 บาท คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ใหม่ภายหลังจากข้อเท็จจริงเป็นยุติว่ากิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ต้องรับผิดชำระเงินแก่กรมชลประทาน แต่ทั้งนี้ภายในกำหนดอายุความ และให้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นหน้า 1 ในช่องคู่ความจาก “บริษัทบางกอกมอเตอร์ อีควิปเมนท์ ที่ 1” เป็น “บริษัทบางกอกมอเตอร์ อีควิปเมนท์ จำกัด ที่ 1” และจาก “ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนลวอเตอร์ แอนด์ อีเล็กตริก คอร์ปอเรชั่น ที่ 3” เป็น “ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนลวอเตอร์ แอนด์ อิเล็กตริก คอร์ปอเรชั่น ที่ 3” ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2547 จำเลยทั้งสามและบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทวีจีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาร่วมทุนเพื่อประมูลงานก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย จังหวัดพิษณุโลกโดยใช้ชื่อว่า กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2547 กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์และกรมชลประทานได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบพร้อมส่วนประกอบอื่นโครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวต่อกรมชลประทานในวงเงิน 179,447,022 บาท มีข้อตกลงว่ากรณีที่โจทก์ถูกเรียกร้องให้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน ให้อยู่ในดุลพินิจของโจทก์ที่จะจ่ายโดยไม่ต้องแจ้งให้กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ทราบและไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ก่อน กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์รับว่าจะนำเงินตามจำนวนที่โจทก์ได้จ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดมาชำระคืนให้แก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันยอมผูกพันตนเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ให้แก่กรมชลประทานวงเงินไม่เกิน 179,447,022 บาท มีข้อตกลงว่าในกรณีที่กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ หรือไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้างก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว โจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้ง และกรมชลประทานไม่จำต้องเรียกร้องให้กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ชำระหนี้นั้นก่อน กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ส่งมอบงานงวดสุดท้ายวันที่ 9 เมษายน 2552 คณะกรรมการตรวจการจ้างของกรมชลประทานตรวจการจ้างเสร็จในวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2554 กรมชลประทานมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของงานจ้างก่อสร้าง วันที่ 5 กรกฎาคม 2554 กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์มีหนังสือถึงกรมชลประทานแจ้งว่าได้ดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องของงานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันที่ 8 กรกฎาคม 2554 กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์มีหนังสือถึงกรมชลประทานขอให้คืนหนังสือค้ำประกัน แต่กรมชลประทานไม่คืนให้ วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 กรมชลประทานมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายเนื่องจากเกิดปัญหาน้ำซึมเกินมาตรฐานและปัญหาอื่นในระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องเป็นเงิน 235,883,328.70 บาท และแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน 179,447,022 บาท โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมชลประทาน แต่กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ปฏิเสธการชำระเงินแก่กรมชลประทาน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 โจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่กรมชลประทาน และโจทก์นำเงินฝากของบริษัทวีจีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 38,088,666.09 บาท มาหักชำระหนี้ดังกล่าว กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ยื่นฟ้องกรมชลประทานต่อศาลปกครองกลางขอให้มีคำสั่งให้กรมชลประทานคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์และชำระค่าเสียหาย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสามและบริษัทวีจีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชำระเงินที่โจทก์ชำระแทนกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ไป แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย บริษัทวีจีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นคำพิพากษายกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่าข้อตกลงในหนังสือค้ำประกันระหว่างโจทก์กับกรมชลประทานเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยชอบหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ยกปัญหาข้อกฎหมายเรื่องมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้เป็นประโยชน์แก่จำเลยอีกคนหนึ่งที่มิได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การค้ำประกันไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่กรมชลประทานโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างกรมชลประทานกับกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์หรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้ และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ สิทธิหน้าที่และความรับผิดของกรมชลประทานและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศ และต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีการทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของกรมชลประทานกับกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันข้อ 1 วรรคสอง จึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าว กรมชลประทานเป็นผู้กำหนดข้อตกลงในสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อความในหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ยอมตกลงชำระหนี้ให้แก่กรมชลประทานโดยจะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งกรมชลประทาน เป็นการออกหนังสือค้ำประกัน โดยมีข้อความตามที่กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกำหนดตามแบบของทางราชการ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 และมาตรา 695 เป็นข้อตกลงทำให้โจทก์รับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาในปัญหานี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์ยกปัญหาว่าข้อตกลงในหนังสือค้ำประกันระหว่างโจทก์กับกรมชลประทานเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยได้โดยชอบหรือไม่ และปัญหาว่า ศาลอุทธรณ์ยกปัญหาข้อกฎหมายเรื่องมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้เป็นประโยชน์แก่จำเลยอีกคนหนึ่งที่มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีในส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับปัญหาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน เห็นว่า ตามสำเนาคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกัน ข้อ 3 มีข้อตกลงว่าในกรณีที่โจทก์ถูกเรียกร้องให้ชำระเงินตามภาระที่โจทก์ออกหนังสือค้ำประกัน ให้อยู่ในดุลพินิจของโจทก์ที่จะจ่ายโดยไม่ต้องแจ้งให้กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ทราบและไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ก่อน แม้ว่าภาระความรับผิดระหว่างกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์กับกรมชลประทานเจ้าหนี้จะไม่สามารถบังคับได้หรือสิ้นผลบังคับหรือระงับสิ้นไปด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์รับว่าจะนำเงินตามจำนวนที่โจทก์ได้จ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดมาชำระคืนให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันจึงเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์แสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรง จึงมิใช่การค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนโดยใช้ชื่อว่า กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ จึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อกรมชลประทานมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหาย เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำซึมเกินมาตรฐานและปัญหาอื่นในระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องเป็นเงิน 235,883,328.70 บาท และแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน 179,447,022 บาท โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ให้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมชลประทาน แต่กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่กรมชลประทาน และเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 โจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่กรมชลประทานไปแล้วกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์จึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากของบริษัทวีจีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 38,088,666.09 บาท มาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินสินเชื่อ ตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกัน ข้อ 3 นั้น เห็นว่า เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ จึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แก้ฎีกาว่า กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่ได้ตรวจสอบว่ากิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์ผิดสัญญาและมีข้อต่อสู้ระหว่างกิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์กับกรมชลประทานอยู่หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่กิจการร่วมค้ายูบีซีเพาเวอร์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องไปว่ากล่าวเอากับกรมชลประทานเองต่างหาก จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์มิได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 141,358,355.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share