แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องระบุช่วงเวลาซึ่งจำเลยกระทำผิด ช่วงแรกระหว่างเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2559 และช่วงที่สองระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560 แม้จะรวมช่วงปิดภาคการศึกษาในวันที่ 1 ถึง 15 พฤษภาคม 2559 เข้าไว้ด้วย ก็มีผลทำให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดในช่วงเวลาที่ปิดภาคการศึกษาเท่านั้น แต่ยังมีช่วงระยะเวลาหลังจากที่โรงเรียนเปิดภาคการศึกษาแล้ว ที่โจทก์สามารถนำสืบวันที่จำเลยกระทำผิดได้ เหตุที่โจทก์ระบุวันและเวลากระทำผิดเป็นช่วงเวลาก็เนื่องมาจากไม่ทราบวันและเวลากระทำผิดที่แน่นอน การระบุวันเวลากระทำผิดเป็นช่วงเวลาดังกล่าวถือว่าเป็นการระบุวันและเวลากระทำความผิดของจำเลยในอีกลักษณะหนึ่งโดยชอบ ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
จำเลยฎีกาขอให้ลดค่าสินไหมทดแทนลงอีกนั้น เมื่อในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องค่าสินไหมทดแทนจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 279, 285 นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 143/2561 ถึง 147/2561 และ 149/2561 ถึง 154/2561 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง พ. ผู้เสียหาย โดยนาย ณ. ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายต่อร่างกาย จิตใจ และชื่อเสียง 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 635/2561 ของศาลชั้นต้น ซึ่งนับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 598/2561 ของศาลชั้นต้น คำขอนับโทษต่อจากคดีอื่นนอกจากนี้ให้ยก เนื่องจากศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง พ. โจทก์ร่วม เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนาย ณ. ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมมีอายุ 9 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับนาย บ. และนาง ต. ซึ่งเป็นปู่และย่า ขณะนั้น โจทก์ร่วมเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียน บ. โดยเป็นศิษย์อยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยซึ่งเป็นครูสอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยีอยู่ที่โรงเรียนดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวันกระทำความผิดของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุช่วงระยะเวลาซึ่งจำเลยกระทำความผิดไว้เป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกในระหว่างเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนกันยายน 2559 และช่วงที่สองในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560 จึงหาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงปิดภาคการศึกษาในระหว่างวันที่ 1 ถึง 31 ตุลาคม 2559 ดังข้ออ้างในฎีกาของจำเลยไม่ และถึงแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงแรกโดยรวมเอาระยะเวลาระหว่างปิดภาคการศึกษาในวันที่ 1 ถึง 15 พฤษภาคม 2559 เข้าไว้ด้วยก็ตาม ก็มีผลทำให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงเวลาที่ปิดภาคการศึกษาดังกล่าวเท่านั้น แต่กรณียังมีช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นซึ่งโรงเรียนเปิดภาคการศึกษาแล้ว ที่โจทก์สามารถนำสืบในรายละเอียดว่าเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดได้ เหตุที่โจทก์ระบุวันและเวลากระทำความผิดไว้เป็นช่วงระยะเวลาเช่นนั้น ก็สืบเนื่องจากโจทก์ไม่ทราบวันและเวลากระทำความผิดที่แน่นอนของจำเลยนั่นเอง ซึ่งการระบุวันและเวลากระทำความผิดเป็นช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ถือเป็นการระบุวันและเวลากระทำความผิดของจำเลยในอีกลักษณะหนึ่งโดยชอบเช่นกัน ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมอายุ 9 ปีเศษ มิใช่เด็กโต จึงย่อมไม่ประสีประสากับเรื่องในทางเพศระหว่างหญิงชายว่ามีข้อห้ามการถูกเนื้อต้องตัวกันอย่างไร จำเลยเป็นครูของโจทก์ร่วม ไม่ต่างกับญาติผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่โจทก์ร่วมต้องให้ความเคารพ พฤติการณ์ซึ่งจำเลยกระทำต่อโจทก์ร่วมดังกล่าว ในความรู้สึกของโจทก์ร่วมจึงคล้ายกับที่ผู้ใหญ่แสดงความเอ็นดูต่อเด็ก โจทก์ร่วมไม่อาจแยกแยะความหนักเบาของการกระทำของจำเลยได้อย่างชัดเจนว่าถึงขั้นที่เป็นการไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วมแล้วหรือยัง กรณีจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เมื่อโจทก์ร่วมถูกจำเลยกระทำดังกล่าวเป็นเวลาต่อเนื่องมายาวนานโจทก์ร่วมก็มิได้บอกกล่าวแก่ผู้ใด หรือแสดงอาการผิดปกติ ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นเพราะโจทก์ร่วมยังไม่อาจเข้าใจถึงสภาพการกระทำอันแท้จริงของจำเลยซึ่งมุ่งหมายลวนลามทางเพศเป็นที่เสียหายต่อโจทก์ร่วมได้ กรณีจึงหาใช่เป็นข้อพิรุธดังข้อฎีกาของจำเลยแต่อย่างใด หากการที่โจทก์ร่วมเพิ่งกล่าวหาจำเลยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2560 หลังจากเกิดเหตุกับโจทก์ร่วมแล้ว 1 ปีเศษ กลับแสดงการรับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ร่วมได้อย่างสมเหตุสมผล โดยสืบเนื่องมาจากนาง ต. ย่าของโจทก์ร่วมทราบข่าวจากชาวบ้านพูดกันที่ตลาดว่า จำเลยกระทำอนาจารเด็กนักเรียนที่โรงเรียน จึงเป็นปกติวิสัยของนาง ต. และนาย บ. ปู่ของโจทก์ร่วมที่จะต้องสอบถามโจทก์ร่วมซึ่งเป็นหลานอยู่ในความดูแลปกครองของพวกตนว่าถูกจำเลยกระทำอนาจารด้วยหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีนาย บ. ซึ่งรับฟังคำบอกเล่าของโจทก์ร่วมมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ร่วมเล่าให้พยานและนาง ต. ฟังถึงเรื่องที่ถูกจำเลยดึงแขนไปหอมแก้มและจับหน้าอกบ่อยครั้งในขณะที่นำงานไปส่ง แต่โจทก์ร่วมจำวันและเวลาที่แน่ชัดไม่ได้ ซึ่งจะเห็นได้ต่อไปว่าเมื่อโจทก์ร่วมเล่าเรื่องที่ถูกจำเลยกระทำให้ปู่และย่าทราบ ก็เชื่อว่าในเวลานั้นโจทก์ร่วมได้เรียนรู้จากญาติผู้ใหญ่ของตนจนเป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าสิ่งที่ตนเองถูกจำเลยกระทำเป็นเรื่องที่ไม่ดีและน่าอับอาย โจทก์ร่วมซึ่งเจริญเติบโตขึ้น มีวุฒิภาวะมากขึ้น และได้เลื่อนชั้นการศึกษาไม่ได้เรียนหนังสือกับจำเลยต่อไปอีก ด้วยเหตุนี้ หากไม่เคยมีเหตุการณ์ดังที่โจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยเป็นผู้กระทำเกิดขึ้นแก่ตนจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ร่วมจะปั้นแต่งเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา ในชั้นสอบสวนซึ่งโจทก์ร่วมไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนต่อหน้าสหวิชาชีพ ซึ่งมีทั้งนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการ เรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงถ่ายทอดออกมาดังปรากฏอยู่ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ซึ่งสอดคล้องเป็นอย่างดีกับที่โจทก์ร่วมมาเบิกความในชั้นพิจารณา ไม่ปรากฏว่ามีข้อพิรุธใด ๆ ทำให้เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมเบิกความไปตามความจริงที่ตนเองประสบมาและแม้โจทก์ร่วมเบิกความยอมรับว่าเคยไปที่บ้านของนาย น. ซึ่งชักชวนผู้ปกครองและเด็กนักเรียนที่อ้างว่าถูกจำเลยกระทำอนาจารมาประชุมกันเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย โดยในที่ประชุมบอกให้นักเรียนพูดให้ตรงกันก็ตาม ก็หาได้หมายความว่าเป็นการเสี้ยมสอนโจทก์ร่วมให้ไปให้การหรือเบิกความปรักปรำจำเลยแต่ประการใด การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะมีข้อกล่าวหาจำเลยซึ่งเป็นครูว่ากระทำอนาจารเด็กนักเรียนในโรงเรียนกว่า 20 คน มิใช่เพียงแค่โจทก์ร่วมรายเดียว การพูดให้ตรงกันจึงมีความหมายเพียงเรื่องที่ว่าจำเลยกระทำอนาจารเด็กนักเรียนหรือไม่เท่านั้น ส่วนรายละเอียดว่านักเรียนแต่ละคนถูกจำเลยกระทำอนาจารด้วยวิธีการอย่างไร ย่อมไม่อาจพูดให้ตรงกันได้อยู่ในตัวเนื่องจากเป็นเรื่องเฉพาะตัวของเด็กนักเรียนแต่ละคน และในทำนองกลับกัน หากโจทก์ร่วมมิได้ถูกจำเลยกระทำอนาจารจริง โจทก์ร่วมก็ไม่น่าจะไปเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวประการสำคัญ ผู้ที่มีสาเหตุกับจำเลยดังที่อ้างในฎีกาคือนาย น. มิใช่โจทก์ร่วมหรือญาติของโจทก์ร่วม ด้วยเหตุนี้ หากจำเลยมิได้กระทำอนาจารโจทก์ร่วม การที่นาย น. เป็นแกนนำผู้ปกครองกล่าวหาจำเลยกว่ากระทำอนาจารเด็กนักเรียนในโรงเรียน ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับโจทก์ร่วมหรือญาติของโจทก์ร่วม กรณียิ่งไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดที่โจทก์ร่วมและเครือญาติจะต้องเปลืองตัวด้วยการเสี้ยมสอนโจทก์ร่วมปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นเป็นเครื่องมือทำลายจำเลย เพราะในขณะเดียวกันย่อมส่งผลสร้างมลทินติดตัวโจทก์ร่วมตลอดไปด้วยแม้จำเลยให้การในชั้นสอบสวนกล่าวหานาย น. ว่าเป็นผู้ยุยงผู้ปกครองให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหากระทำอนาจารแก่เด็กนักเรียน พนักงานสอบสวนก็ไม่เรียกนาย น. มาสอบปากคำเพื่อให้การสอบสวนเป็นไปอย่างรอบด้านนั้น เห็นว่าเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย เมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่เป็นการเพียงพอ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อสงสัยว่าโจทก์ร่วมให้การด้วยถูกเสี้ยมสอนเนื่องจากเป็นการให้การต่อหน้าสหวิชาชีพซึ่งต้องช่วยกันซักไซร้ไล่เลียงหาความจริงอยู่แล้ว การที่พนักงานสอบสวนไม่สอบปากคำนาย น. จึงมิใช่ข้อผิดสังเกตดังที่จำเลยฎีกา
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาต่อสู้ในประการต่อไปว่าเวลานักเรียนมาส่งงานให้แก่จำเลยที่ห้องวิชาการ จะเดินเข้าแถวมาส่งห้องวิชาการมีนางสาว ส. ครูอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ด้วยกันกับจำเลย เป็นทำนองว่าไม่มีโอกาสที่จำเลยจะกระทำอนาจารโจทก์ร่วมได้ก็ดี หรือฎีกาต่อสู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่ครูจะเล่นและหยอกล้อกับนักเรียนจำเลยเคยเล่นจักจี้กับเด็กนักเรียนที่หน้าอาคารเรียน เมื่อจำเลยมาทำงานในตอนเช้า จะมีเด็กนักเรียนเข้ามาแย่งถือกระเป๋าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของจำเลย บ้างก็ดึงเสื้อและเดินตามจำเลยไป เป็นทำนองว่าการถูกเนื้อต้องตัวกันระหว่างครูกับศิษย์มิใช่เรื่องเสียหายก็ดี โดยจำเลยมีนางสาว ส. มาเบิกความสนับสนุนพฤติการณ์ระหว่างจำเลยและเด็กนักเรียนดังกล่าว และยังเบิกความอีกว่าจำเลยใช้เทคนิคการสอนแบบเรียนปนเล่น เล่นปนเรียน เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูผู้สอนกับเด็กนักเรียน โดยในบางครั้งนางสาว ส. เห็นเด็กนักเรียนหญิงแย่งกันนั่งตักจำเลยเวลาที่จำเลยนั่งเก้าอี้ตัวเล็กสอนหนังสือนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเบิกความไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจำเลยกระทำอนาจารโจทก์ร่วมในเวลาที่อยู่ด้วยกันตามลำพังและแต่ละครั้งที่จำเลยดึงโจทก์ร่วมเข้าไปกอด หอมแก้มและจับหน้าอก ใช้ระยะเวลาเพียง 2 วินาที ไม่เคยปรากฏว่ามีครั้งใดซึ่งจำเลยหน่วงเหนี่ยวโจทก์ร่วมไว้นาน ๆ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเป็นเพราะจำเลยไม่ต้องการให้ใครที่บังเอิญผ่านมาพบเห็นการกระทำของจำเลยนั่นเอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเพียง 2 กรรม โดยอาศัยภาคการศึกษาที่โจทก์ร่วมเรียนหนังสือกับจำเลยในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งโจทก์ร่วมเบิกความว่าจำเลยกระทำอนาจารโจทก์ร่วมหลายครั้งตลอดทั้งสองภาคการศึกษา แต่เมื่อโจทก์ร่วมจำวัน และเวลาที่แน่นอนชัดเจนซึ่งจำเลยกระทำแก่โจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องมาเพียง 2 กรรม ซึ่งไม่ได้หมายความจำเลยกระทำอนาจารโจทก์ร่วมแค่เพียง 2 ครั้งเท่านั้น กรณีจึงเชื่อได้ว่าตลอดช่วง 2 ภาคการศึกษา ย่อมมีโอกาสที่จำเลยอยู่ด้วยกันกับโจทก์ร่วมสองต่อสองภายในห้องวิชาการ เมื่อโจทก์ร่วมต้องเข้าไปหาจำเลยไม่ว่าในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหลายครั้งโดยไม่มีผู้สังเกตเห็นและจำเลยไม่ละโอกาสนั้นกระทำอนาจารโจทก์ร่วมเพียงชั่วระยะเวลาเล็กน้อย นางสาว ส. เองก็มิใช่ว่าจะอยู่ที่ห้องวิชาการกับจำเลยตลอดเวลา เช่นเดียวกับโจทก์ร่วมก็มิใช่ว่าจะต้องมาพร้อมกับเพื่อนเข้าแถวส่งงานให้แก่จำเลยทุกครั้งไป ที่จำเลยอ้างว่าไม่มีโอกาสกระทำอนาจารกับโจทก์ร่วมจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนการถูกเนื้อต้องตัวนักเรียนตามที่จำเลยฎีกาว่าเป็นการหยอกล้อและเล่นกันนั้น หากกระทำในเวลาสอนหนังสือหรือกระทำในที่สาธารณะโดยเปิดเผยอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการกอดหรือหอมแก้มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ยังไม่เติบโตนัก หรือแม้กระทั่งการให้เด็กนักเรียนหญิงนั่งตักจำเลยก็ตาม ก็พออนุโลมว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนและนักเรียนให้รู้สึกผูกพันกันฉันญาติในการแสดงออกของผู้ใหญ่ในลักษณะที่มีความรักและเอ็นดูเด็กเล็กๆ แต่หากกระทำเช่นเดียวกันในที่ลับตาคน ย่อมส่อเจตนาผู้กระทำได้ว่ามีความมุ่งหมายทางเพศเป็นประการสำคัญ หาใช่เกิดจากความรักและเอ็นดูตามวิสัยปกติ การจับหน้าอกเด็กนักเรียนผู้หญิง จึงเกินไปกว่าที่จะยอมรับได้ว่าเป็นการแสดงความเอ็นดูหรือหยอกล้อ ทั้งนี้ไม่ว่าจะกระทำในที่ลับหรือที่สาธารณะก็ตาม จำเลยมิอาจอ้างพฤติการณ์ที่ตนกระทำต่อเด็กนักเรียนในเวลาที่สอนหนังสือหรือในเวลาอยู่ในที่สาธารณะ มาเป็นข้อบ่ายเบี่ยงว่ามิได้กระทำการอันไม่สมควรทางเพศแก่โจทก์ร่วมได้
ส่วนการที่จำเลยซึ่งถูกฟ้องในคดีอื่นกล่าวหาว่ากระทำอนาจารแก่เด็กนักเรียนคนอื่นซึ่งเป็นศิษย์อยู่ในความปกครองดูแลเป็นทำนองเดียวกับคดีนี้ ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องดังที่จำเลยอ้างในฎีกานั้น เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ซึ่งมีผู้เสียหายต่างคนกัน พฤติการณ์กระทำอนาจารก็แตกต่างกันไปในแต่ละคดี จึงเป็นเรื่องที่ศาลในคดีนั้น ๆ ต้องวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในสำนวนว่าสามารถรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการนำสืบพยานหลักฐานของแต่ละคดีซึ่งแตกต่างกันออกไป ศาลทุกคดีไม่จำต้องมีคำวินิจฉัยเหมือนกัน ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เชื่อตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นครูบาอาจารย์ สมควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กนักเรียน ยิ่งเฉพาะกับศิษย์ซึ่งอยู่ในความปกครองดูแลเป็นเด็กเล็กซึ่งบิดามารดาให้ความไว้วางใจมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ให้การศึกษาและกล่อมเกลาสร้างสมนิสัยให้เป็นคนดี แต่จำเลยกลับกระทำไม่สมต่อหน้าที่และความไว้วางใจนั้น มุ่งสนองอารมณ์ใคร่ของตนเองโดยอาศัยความอ่อนแอและไม่ประสาต่อโลกของเด็กนักเรียนผู้เป็นศิษย์ พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เหลือกระทงละ 6 เดือน จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากอยู่แล้ว ประกอบกับจำเลยอุทธรณ์และฎีกาต่อสู้คดีมาโดยตลอด มิได้สำนึกในความผิดที่ตนเองได้กระทำจึงไม่มีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย
อนึ่ง ข้อที่จำเลยฎีกาในประการสุดท้าย ขอให้ลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ร่วม 35,000 บาท ให้น้อยลงอีกนั้น เมื่อปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์ จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนค่าสินไหมทดแทนจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่จำเลยกลับฎีกาในปัญหานี้อีก จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 285 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 (เดิม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5