คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2560

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

ชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้นจำเลยต่อสู้คดีด้วยตนเอง ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจำเลยมิได้แต่งตั้งทนายให้เข้าว่าความ แต่ได้มอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย โดย ส. ประธานองค์การฯ เป็นผู้อุทธรณ์และผู้ฎีกา แต่องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทยไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาแทนจำเลยได้ การที่องค์การฯ ดังกล่าวยื่นอุทธรณ์แทนจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 5, 6, 8, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 11, 54, 55, 69, 72 ตรี พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 4, 38, 54 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 97 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบของกลาง และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 54 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2), 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง ทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และทำลายต้นไม้หรือพฤกษชาติอื่น ๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท ฐานทำไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท และฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 80,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรจำนวน 20 ชั่วโมง (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ริบของกลาง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และ 31 วรรคสอง (2) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) และ 73 วรรคสอง (2) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง และ 73 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท และฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ส่วนการรอการลงโทษ การคุมความประพฤติจำเลยและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง และยกคำขอที่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ในชั้นพิจารณาในศาลชั้นต้นจำเลยต่อสู้คดีด้วยตนเอง ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจำเลยมิได้แต่งตั้งทนายให้เข้าว่าความ แต่ได้มอบอำนาจให้องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐแห่งราชอาณาจักรไทย โดยนายสุขสันติ์ ประธานองค์การฯ เป็นผู้อุทธรณ์และผู้ฎีกา แต่องค์การตรวจสอบอำนาจรัฐไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์และฎีกาแทนจำเลยได้ การที่องค์การฯ ดังกล่าวยื่นอุทธรณ์แทนจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาเพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 และยกฎีกาของจำเลย ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share