แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า ค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดให้แก่โจทก์ตำกว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่เป็นธรรม จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องหาพยานมาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวให้มีน้ำหนักรับฟังได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับค่าเสียหายทางจิตใจไว้ผู้ถูกเวนคืนจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นที่ดินติดถนนซอยและที่มีทางสาธารณะเข้าออกได้หลายทาง ภายในที่ดินมีการปลูกผลอาสินจำพวกมะม่วง มะพร้าว และกล้วย มิได้ถูกขุดหน้าดินให้เป็นหลุมเป็นบ่อทั้งเป็นที่ดินแปลงเล็กเหมาะแก่การใช้เป็นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ มีราคาสูงกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดให้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ของมาตรา 21(1) ถึง(5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมและไม่ขัดกับมาตรา 22 เพราะมาตรา 22 ให้เป็นดุลพินิจที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ ไม่ได้บังคับว่าต้องกำหนดให้ต่ำกว่ามาตรา 21 เสมอไปจึงไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนแก่โจทก์เพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดอีก พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้ายที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น เมื่อไม่ปรากฎว่าได้การตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่จะถูกเวนคืนกันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 11 ดังนั้น วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับแต่วันที่วางเงินค่าทดแทน จำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2534 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนภายใน15 วัน นับแต่วันหนังสือ โจทก์ได้รับหนังสือนี้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 แต่โจทก์ไม่ได้ไปรับเงินค่าทดแทนตามกำหนดเวลาในหนังสือดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 2 ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางในวันถัดจากวันครบกำหนด 15 วันนับแต่รับหนังสือดังกล่าวคือวันที่ 14 มีนาคม 2534 จึงต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2534 หาใช่วันที่ 11 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นวันที่มีประกาศสำนักงานยกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดให้การเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนและไม่ใช่นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 นำเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไปฝากธนาคารออมสินเพราะเป็นวันภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางแล้ว สำหรับจำนวนเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยนั้น เมื่อไม่ปรากฎว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนให้เพิ่มขึ้นตามที่รัฐมนตรีวินิจฉัยหรือไม่ตั้งแต่เมื่อใดและได้ชำระเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไปตั้งแต่เมื่อใด จึงนำเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีมารวมกับที่ศาลวินิจฉัยเพิ่มเพื่อคำนวณดอกเบี้ยด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่189262 และเลขที่ 186708 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานครเนื้อที่ 201 และ 201 ตารางวา ตามลำดับ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลเป็นส่วนราชการปกครองส่วนท้องถิ่น จำเลยที่ 2 เป็นปลัดกรุงเทพมหานครมีหน้าที่รับผิดชอบและปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนจำเลยที่ 3 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามกฎหมายที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนทั้งสองแปลง เนื้อที่ 402 ตารางวา เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดราคาที่ดินที่จะเวนคืนแก่โจทก์เฉลี่ยราคาตารางวาละ 1,176.61 บาท รวมเป็นเงิน 473,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์เห็นว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตารางวาละ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท เมื่อถูกเวนคืนแล้วโจทก์ไม่สามารถหาซื้อที่ดินได้ในราคาดังกล่าว โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2534 แต่จำเลยที่ 3ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสามจึงต้องชดใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 8,020,000 บาท เมื่อหักกับเงินค่าทดแทนจำนวน470,000 บาท จำเลยทั้งสามต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน7,547,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของเงินฝากประจำธนาคารออมสินร้อยละ 10.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน22 วัน เป็นเงิน 3,015,656 บาท รวมเป็นเงิน 10,562,656 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินค่าทดแทนที่ดินและค่าเสียหายแก่โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,562,656 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี ในต้นเงิน 7,547,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนตามกฎหมายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์ จึงไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิกับโจทก์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2531 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531 เนื่องจากความจำเลยในการสร้างที่เก็บกักน้ำเพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนทั้งสองแปลงรวมเนื้อที่ 400 ตารางวา ไม่ใช่ 402 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนโดยถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพ.ศ. 2531-2534 ของกรมที่ดิน เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ รวมค่าทดแทนเป็นเงิน 232,500 บาท และกำหนดค่าทดแทนต้นไม้ในที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เป็นเงิน 9,655 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2534 แต่โจทก์ไม่ไปรับค่าทดแทน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงนำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สาขาพระโขนง เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534จำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดค่าทดแทนโดยเหมาะสมถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว โจทก์พิจารณาถึงสภาพที่ตั้งของที่ดินโจทก์นอกจากนี้โจทก์ซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนภายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอนเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ประกาศใช้บังคับแล้ว ในราคาตารางวาละ 1,200 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่จำเลยทั้งสามกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ โจทก์จะอ้างว่าค่าทดแทนที่ได้รับไม่พอสำหรับหาที่อยู่และซื้อที่ดินอื่นแทนไม่ได้ และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอนเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ใช้บังคับแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงจะเพิ่มขึ้นเป็นราคาตารางวาละ 20,000 บาท การที่โจทก์ขอให้จำเลยให้ค่าทดแทนเพิ่มจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเพราะโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้บังคับแล้วถึง2 ปีเศษ และจำเลยทั้งสามไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เงินแก่โจทก์ดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคารออมสินไม่ถึงอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี จำเลยทั้งสามควรรับผิดเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2534 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าทดแทนไปฝากไว้ให้แก่โจทก์ที่ธนาคารออมสิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ12.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน 3,400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันที่30 เมษายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ และจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 186708 และเลขที่ 189262แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่รวม 400 ตารางวาที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฏีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531เพื่อประโยชน์สาธารณะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเงินค่าทดแทนโดยถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม พ.ศ. 2531-2534ของกรมที่ดิน เป็นเกณฑ์คำนวณ ที่ดินโฉนดเลขที่ 189262 เนื้อที่201 ตารางวา อยู่ในโซน 48 บล๊อก ดี ราคาตารางวาละ 1,200 บาทห่างจากถนนซอยไม่เกิน 40 เมตร เนื้อที่ 200 ตารางวา เป็นเงิน240,000 บาท ที่อยู่ห่างถนนซอยเกิน 40 เมตร เนื้อที่ 1 ตารางวาราคาตารางวาละ 500 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินแปลงนี้จำนวน240,500 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 186708 เนื้อที่ 199 ตารางวาอยู่ในโซน 48 บล๊อก ดี เช่นกัน ห่างจากถนนซองไม่เกิน 40 เมตรเนื้อที่ 190 ตารางวา ราคาตารางวาละ 1,200 บาท เป็นเงินค่าทดแทน228,000 บาท ที่อยู่ห่างถนนซอยเกิน 40 เมตร เนื้อที่ 9 ตารางวาราคาตารางวาละ 500 บาท เป็นเงิน 4,500 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินแปลงนี้จำนวน 232,500 บาท นอกจากนี้คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นยังกำหนดเงินค่าทดแทนต้นไม้ในที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน 9,655 บาท รวมเป็นค่าทดแทนต้นไม้ในที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์อีกเป็นเงิน 9,655 บาท รวมเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ได้รับเป็นเงินทั้งสิ้น 473,000 บาท โจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ยอมรับเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้และโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2534 แต่จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้ไปฝากธนาคารออมสินสาขาพระโขนงไว้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เฉลี่ยตารางวาละ 1,500 บาท รวมเป็นเงิน 600,000 บาท เพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดเป็นเงิน 127,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และของจำเลยที่ 1กับที่ 2 ในชั้นนี้ว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีหน้าที่กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดด้วยแต่จำเลยใช้ราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่ได้ดำเนินการเสาะแสวงหาเพื่อให้ได้ราคาซื้อขายตามท้องตลาดที่แท้จริงมากำหนดเป็นค่าทดแทนการเวนคืนแก่โจทก์เมื่อจำเลยมีหน้าที่ในการสืบหาราคาที่ซื้อขายกันตามท้องตลาดมาใช้เป็นค่าทดแทนแก่โจทก์ แต่จำเลยก็มิได้กระทำ และในชั้นสืบพยานจำเลยก็มิได้นำราคาที่ดินที่ซื้อกันตามท้องตลาด ในขณะพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลบังคับใช้มาแสดงต่อศาล ศาลจึงชอบที่จะฟังตามที่โจทก์สืบพยาน ซึ่งในชั้นสืบพยาน โจทก์มีพยานมาเบิกความต่อศาลว่า ราคาซื้อขายของที่ดินข้างเคียงมีราคาตารางวาละ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท ราคาที่โจทก์ฟ้องเรียกตารางวาละ 20,000 บาท จึงยังต่ำกว่าที่โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะมาตรา 21(1) เพียงอย่างเดียว แต่ให้พิจารณารวมทั้งมาตรา 21 อนุมาตราอื่น ๆ มาตรา 22 และอื่น ๆ ประกอบด้วยโจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงภายหลังพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับกว่า2 ปี โดยสมัครใจทั้งที่ทราบดีแล้วว่าที่ดินที่ซื้อทั้งสองแปลงอยู่ในเขตตามพระราชกฤษฎีกาฯและโจทก์ไม่ได้ใช้อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพหรือทำประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริง คุณสมบัติจึงต่ำกว่าบุคคลตามมาตรา 22 แต่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ และกำหนดค่าทดแทนให้เทียบเท่ากับเจ้าของที่ดินตามมาตรา 22 ได้ คือสามารถกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ดินในขณะที่โจทก์ได้มาการที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลง ให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงิน600,000 บาท สูงกว่าราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมาในปี 2533 ตามที่จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 492,000 บาท แล้วจึงชอบด้วยกฎหมาย ถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรมแก่โจทก์และสังคมแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า ค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดให้แก่โจทก์จำนวน 473,000 บาทเฉลี่ยตารางวาละ 1,176.61 บาท ต่ำกว่าราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่เป็นธรรม เนื่องจากที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตารางวาละ30,000 บาท ถึง 50,000 บาท โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 402 ตารางวา เป็นเงินเพียง8,020,000 บาท ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องหาพยานมาสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวให้มีน้ำหนักรับฟังได้ แต่พยานโจทก์ที่เบิกความต่อศาลว่า ราคาที่ดินข้างเคียงกับที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 30,000 บาท เป็นคำเบิกความลอย ๆ และเป็นราคาที่ไม่สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์และพยานโจทก์เองที่เบิกความว่าโจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 ในราคาตารางวาละ 6,000 บาท นอกจากนี้ยังขัดกับคำเบิกความของนายกฤษณ์ ปริญานุสรณ์ ที่ว่าที่ดินของพยานอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์ พยานซื้อที่ดินเมื่อปี 2533 ตารางวาละ 5,000 บาท และเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานั้นฟังไม่ได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ ตามที่เป็นอยู่ในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 24 พฤษภาคม 2531 มีราคาตารางวาละ 20,000 บาท ตามจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง และที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมาในราคาตารางวาละ 6,000 บาทนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ก็ยังฟังไม่ได้และโจทก์ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 ภายหลังพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 มีผลใช้บังคับคือวันที่ 24 พฤษภาคม 2531ประมาณ 2 ปี จึงเชื่อว่าวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับนั้น ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดต่ำกว่าตารางวา 6,000 บาท
ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายทางด้านจิตใจนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับค่าเสียหายทางจิตใจไว้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายทางจิตใจ
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เป็นที่ดินติดถนนซอยและที่มีทางสาธารณะเข้าออกได้หลายทาง ภายในที่ดินมีการปลูกผลอาสินจำพวก มะม่วง มะพร้าว และกล้วย มิได้ถูกขุดหน้าดินให้เป็นหลุมเป็นบ่อ ทั้งเป็นที่ดินแปลงเล็กเหมาะแก่การใช้เป็นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ จึงเชื่อว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ มีราคาสูงกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดให้ตารางวาละ 1,500 บาท และเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาทเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กำหนดอีก 600,000 บาทนั้น เป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ของมาตรา 21(1)ถึง (5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมด้วย และไม่ขัดกับมาตรา 22 เพราะมาตรา 22 ให้เป็นดุลพินิจที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนให้ต่ำกว่าเงินค่าทดแทนที่กำหนดตามมาตรา 21 ก็ได้ ไม่ได้บังคับว่าต้องกำหนดให้ต่ำกว่ามาตรา 21 เสมอไป ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนแต่โจทก์เพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
สำหรับฎีกาของโจทก์ในปัญหาที่ว่าจะเริ่มคิดดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนเพิ่มขั้นตั้งแต่เมื่อใดนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสุดท้ายบัญญัติไว้ว่า”ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้แต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น” คดีนี้ปรากฎว่าไม่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่จะถูกเวนคืนกันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 11 ดังนั้น วันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับแต่วันที่วางเงินค่าทดแทน ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่8 กุมภาพันธ์ 2534 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือนี้ โจทก์ได้รับหนังสือนี้เมื่อวันที่26 กุมภาพันธ์ 2534 ตามสำเนาหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนและสำเนาใบตอบรับเอกสารหมาย จ.4 แต่โจทก์ไม่ได้ไปรับเงินค่าทดแทนตามกำหนดเวลาในหนังสือดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสองซึ่งเท่ากับว่าจำเลยที่ 2 ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางในวันถัดจากวันครบกำหนด 15 วัน นับแต่รับหนังสือดังกล่าวคือวันที่ 14 มีนาคม2534 จึงต้องเริ่มคิดดอกเบี้ยในเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2534 หาใช่วันที่ 11 สิงหาคม 2533 ซึ่งเป็นวันที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดให้การเวนคืนในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนดังที่โจทก์ฎีกาไม่ และไม่ใช่นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2534ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 2 นำเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ไปฝากธนาคารออมสินสาขาพระโขนงเพราะวันดังกล่าวนี้เป็นวันภายหลังจากวันที่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางแล้ว ส่วนจำนวนเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยนั้น ในชั้นนี้ไม่ปรากฎว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนให้เพิ่มขึ้นตามที่รัฐมนตรีวินิจฉัยหรือไม่ตั้งแต่เมื่อใดและได้ชำระเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไปตั้งแต่เมื่อใดจึงนำเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไปตั้งแต่เมื่อใดจึงนำเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีมารวมกับที่ศาลวินิจฉัยเพิ่มเพื่อคำนวณดอกเบี้ยด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงิน 727,000 บาท แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นตามพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์